ค้นหา
  
Search Engine Optimization Services (SEO)

โลก (ดาวเคราะห์)

โลก (อังกฤษ: Earth หรือ the World, กรีก: Gaia,ละติน: terra) เป็นดาวเคราะห์ลำดับที่สามจากดวงอาทิตย์ เป็นดาวเคราะห์ที่มีความหนาแน่นมากที่สุดในระบบสุริยะ มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาดาวเคราะห์หินทั้งสี่ดวงของระบบสุริยะ และเป็นวัตถุทางดาราศาสตร์เพียงหนึ่งเดียวที่ทราบว่ามีสิ่งมีชีวิต

จากหลักฐานการวัดอายุด้วยกัมมันตรังสีและแหล่งข้อมูลอื่นได้ความว่าโลกกำเนิดเมื่อประมาณสี่พันห้าร้อยล้านปีก่อน โลกมีปฏิสัมพันธ์เชิงโน้มถ่วงกับวัตถุอื่นในอวกาศโดยเฉพาะดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ระหว่างการโคจรรอบดวงอาทิตย์หนึ่งรอบ โลกจะหมุนรอบแกนตนเองประมาณ 366.26 รอบ เกิดเป็นวันสุริยะ 365.26 วัน หรือหนึ่งปีดาราคติ[n 5] แกนหมุนของโลกเอียงทำมุม 23.4 องศา กับแนวตั้งฉากของระนาบการโคจร ก่อให้เกิดฤดูกาลผันแปรไปบนพื้นผิวดาวในรอบระยะเวลาหนึ่งปีฤดูกาล (365.24 วันสุริยะ) ดวงจันทร์เป็นดาวบริวารถาวรหนึ่งเดียวของโลก ปฏิสัมพันธ์เชิงโน้มถ่วงระหว่างดวงจันทร์กับโลกทำให้เกิดน้ำขึ้นน้ำลงในมหาสมุทร หน่วงการหมุนของโลกให้ช้าลงทีละน้อย และทำให้ความเอียงของแกนโลกมีเสถียรภาพ

ธรณีภาคของโลกแบ่งออกได้เป็นหลาย ๆ ส่วน เรียกว่าแผ่นธรณีภาค ซึ่งย้ายที่ตัดผ่านพื้นผิวตลอดเวลาหลายล้านปี ร้อยละ 71 ของพื้นผิวโลกปกคลุมด้วยน้ำ บริเวณที่เหลือประกอบด้วยทวีปและเกาะต่าง ๆ ซึ่งมีทะเลสาบและแหล่งน้ำอื่น ๆ จำนวนมากกอปรเป็นอุทกภาค บริเวณขั้วโลกทั้งสองปกคลุมด้วยน้ำแข็งเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่แผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติก และน้ำแข็งทะเลของแพน้ำแข็งขั้วโลก บริเวณภายในของโลกยังคงมีความเคลื่อนไหวโดยมีแก่นชั้นในซึ่งเป็นเหล็กในสถานะของแข็ง มีแก่นเหลวชั้นนอกซึ่งกำเนิดสนามแม่เหล็ก และชั้นแมนเทิลพาความร้อนที่ขับเคลื่อนการแปรสัณฐานแผ่นธรณีภาค

ภายในพันล้านปีแรก สิ่งมีชีวิตได้ปรากฏขึ้นในมหาสมุทรและเริ่มส่งผลกระทบต่อชั้นบรรยากาศและพิ้นผิวดาว เกื้อหนุนให้เกิดการแพร่ขยายของสิ่งมีชีวิตที่ใช้ออกซิเจนเช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช้ออกซิเจน และเป็นผลให้เกิดการสร้างชั้นโอโซนขึ้นในบรรยากาศ ทั้งชั้นโอโซนและสนามแม่เหล็กโลกได้ร่วมกันกั้นขวางเกือบทั้งหมดของรังสีที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตจากดวงอาทิตย์ ทำให้สิ่งมีชีวิตสามารถเจริญรุ่งเรืองได้ทั้งบนผืนดินเช่นเดียวกับในผืนน้ำ นับจากนั้นมา ตำแหน่งของโลกในระบบสุริยะ คุณสมบัติทางกายภาพของโลก และประวัติศาสตร์ธรณีวิทยาของโลก ล้วนยอมให้สิ่งมีชีวิตยังคงดำรงอยู่ได้ ความหลากหลายทางชีวภาพของโลกได้ใช้เวลากว่าหลายร้อยล้านปีในการวิวัฒน์ขึ้น แผ่ขยายมาอย่างต่อเนื่องเว้นแต่เมื่อถูกขัดขวางโดยสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ แม้ว่าตามการประมาณของนักการศึกษาจะคาดว่ามากกว่าร้อยละ 99 ของสปีชีส์ทั้งหมดที่เคยอยู่อาศัยบนโลกนั้นสูญพันธุ์ไปแล้ว โลกก็ยังคงเป็นบ้านอาศัยของสิ่งมีชีวิตร่วม 10-14 ล้านสปีชีส์ เป็นที่พึ่งพิงของมนุษย์มากกว่า 7.2 พันล้านคน ทั้งด้วยชีวมณฑลและแร่ธาตุต่าง ๆ ประชากรมนุษย์บนโลกแบ่งออกได้เป็นรัฐเอกราชกว่าสองร้อยแห่งโดยมีปฏิสัมพันธ์กันผ่านทางการทูต ความขัดแย้ง การท่องเที่ยว การค้า ตลอดจนการสื่อสาร

คำว่า โลก ในภาษาไทยมีที่มาจากคำในภาษาบาลี โลก (โล-กะ) คนไทยใช้คำนี้เรียกโลกตั้งแต่เมื่อใดนั้นไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่คาดว่าน่าจะได้รับอิทธิพลสืบทอดผ่านมาทางพระพุทธศาสนา เดิมนั้นคำว่าโลกไม่ได้หมายความเฉพาะเพียงแต่โลกที่เป็นวัตถุธาตุ แต่ใช้ในหลายความหมาย ได้แก่ "หมู่" "เหล่า" "ขอบเขต" "ทั้งหมดในขอบเขต" "ขอบเขตอาศัย" "ความเป็นไป" "ความเป็นอยู่" หากกล่าวถึงโลกทั้ง ๓ ก็จะหมายถึง สังขารโลก (โลกคือสังขาร) สัตว์โลก (โลกคือหมู่สัตว์) และโอกาสโลก (โลกคือแผ่นดิน) ปัจจุบันมีการใช้คำว่าโลกในความหมายเกี่ยวข้องกับมนุษย์ หรืออารยธรรมมนุษย์ (ซึ่งตรงกับคำว่า World ในภาษาอังกฤษ) นอกเหนือจากความหมายดาวเคราะห์ที่นิยมใช้ทั่วไป

คำว่าโลกในภาษาต่างประเทศ อังกฤษร่วมสมัยใช้คำว่า Earth พัฒนามาจากรูปแบบภาษาอังกฤษสมัยกลางต่าง ๆ กัน ซึ่งสืบมาจากคำนามในภาษาอังกฤษสมัยเก่าที่นิยมสะกดว่า eor?e มีรากเดียวกันกับทุกภาษาในกลุ่มเจอร์แมนิก และโปรโตเจอร์แมนิกที่ได้ประกอบเป็น *er?? ตามที่ปรากฏในสมัยแรก ๆ มีการใช้คำ eor?e เพื่อแปลความจากคำภาษาลาติน terra และภาษากรีก ?? (g?) ในความหมาย พื้นดิน ดิน ผืนดินแห้ง โลกมนุษย์ พื้นผิวของโลก (รวมทั้งทะเล) ตลอดจนพิภพโลกทั้งมวล เช่นเดียวกันกับ Terra และ Gaia โลกถือว่าเป็นเทพเจ้าตามลัทธิเพเกินของชาวเจอร์แมนิก-ชาวแองเกิลตามที่แทซิทัสได้บันทึกไว้ในบรรดาผู้ศรัทธาในเทพเนอทัส และภายหลังตามเทวตำนานนอร์ส คือ ยูร์ด (J?r?) ยักษิณีซึ่งสมรสกับโอดินและเป็นมารดาของทอร์

อีกหลายภาษาที่มีความเป็นมาใกล้เคียงกับไทยเช่นภาษาลาวก็เรียกโลกว่า ??? (โลก) เช่นเดียวกัน ปัจจุบันเยอรมันใช้คำเรียกโลกคือ Erde (แอร์เดอะ) คล้ายกับดัตช์ Aarde (อาร์เดอะ), กลุ่มภาษาโรมานซ์ สเปนใช้คำ Tierra (ตีเอร์รา) คล้ายกับอิตาลีที่ใช้ Terra (เตร์รา) หรือฝรั่งเศส Terre (แตร์), ภาษาจีนใช้ ?? (D?qi? ตี้ฉิว) หรือ ?? (K?ny? คุนหยู๋) ญี่ปุ่นเรียก ?? (Chiky? จิคีว) เกาหลีเรียก ?? (Jigu ชีกู) และสันสกฤตใช้คำ ?????? (ปฐวี)

โลกมีรูปร่างเป็นทรงกลมไม่สมบูรณ์โดยแป้นเล็กน้อยตามแนวแกนหมุนจากขั้วหนึ่งใปยังอีกขั้วหนึ่ง เกิดเป็นลักษณะที่ป่องออกตรงกลางในแถบศูนย์สูตร การป่องนี้เป็นผลมาจากการหมุนรอบตัวเองของโลกและเป็นสาเหตุให้เส้นผ่านศูนย์กลางในแนวศูนย์สูตรยาวกว่าเส้นผ่านศูนย์กลางในแนวขั้วเหนือ-ใต้ราว 43 กิโลเมตร (27 ไมล์) จุดบนพื้นผิวโลกที่ไกลที่สุดจากจุดศูนย์กลางมวลของโลกคือ ยอดภูเขาไฟชิมโบราโซในประเทศเอกวาดอร์ เส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ยของทรงกลมอ้างอิงอยู่ที่ประมาณ 12,742 กิโลเมตร (7,918 ไมล์) ใกล้เคียงกับระยะ 40,000 กม./? ซึ่งเป็นนิยามแรกของระยะทาง 1 เมตร ว่าให้เท่ากับ 1/10,000,000 ของระยะจากเส้นศูนย์สูตรไปยังขั้วโลกเหนือผ่านกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

ภูมิประเทศในแต่ละท้องที่มีการเบี่ยงเบนไปจากทรงกลมอุดมคติ แต่เมื่อมองในระดับโลกทั้งใบการเบี่ยงเบนเหล่านี้ก็ถือว่าเล็กน้อย จุดที่ถือว่ามีความเบี่ยงเบนท้องถิ่นมากที่สุดบนพื้นผิวหินของโลกก็คือ ยอดเขาเอเวอร์เรสต์ด้วยระดับความสูง 8,848 เมตรจากระดับน้ำทะเลกลาง คิดเป็นค่าความเบี่ยงเบนร้อยละ 0.14 และร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนาที่ระดับความลึก 10,911 เมตรจากระดับน้ำทะเลกลาง คิดเป็นค่าความเบี่ยงเบนร้อยละ 0.17 (ประมาณ 1/584) หากเปรียบโลกกับลูกคิวซึ่งมีความยอมให้ได้ทางอุตสาหกรรมที่ร้อยละ 0.22 แล้ว บางบริเวณของโลกเช่นแนวสันเขาและร่องลึกก้นมหาสมุทรต่าง ๆ ก็จะให้ความรู้สึกไม่ต่างกับตำหนิที่เล็กน้อยมาก ในขณะที่พื้นที่ส่วนใหญ่ของโลกเช่นที่ราบใหญ่บนพื้นดินหรือที่ราบก้นสมุทรก็จะให้ความรู้สึกเรียบเนียนยิ่งกว่าลูกบิลเลียด อันเนื่องมาจากการป่องออกบริเวณศูนย์สูตร ตำแหน่งบนพื้นผิวที่ใกลที่สุดจากจุดศูนย์กลางของโลกคือ ยอดเขาชิมโบราโซในประเทศเอกวาดอร์ และวัสคารัน (สเปน: Huascar?n) ในประเทศเปรู ซึ่งเป็นตำแหน่งบนผิวโลกที่มีแรงโน้มถ่วงต่ำที่สุด

โลกมีมวลโดยประมาณ 5.97?1024 กิโลกรัม ส่วนมากประกอบขึ้นจากเหล็ก (ร้อยละ 32.1) ออกซิเจน (ร้อยละ 30.1) ซิลิกอน (ร้อยละ 15.1) แมกนีเซียม (ร้อยละ 13.9) กำมะถัน (ร้อยละ 2.9) นิกเกิล (ร้อยละ 1.8) แคลเซียม (ร้อยละ 1.5) และอะลูมิเนียม (ร้อยละ 1.4) ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 1.2 ประกอบด้วยธาตุอื่น ๆ ในปริมาณเล็กน้อย จากกระบวนการการแยกลำดับชั้นโดยมวลทำให้เชื่อว่าบริเวณแกนโลกประกอบขึ้นในขั้นต้นด้วยเหล็กร้อยละ 88.8 มีนิกเกิลในปริมาณเล็กน้อยราวร้อยละ 5.8 กำมะถันร้อยละ 4.5 และน้อยกว่าร้อยละ 1 เป็นธาตุพบน้อยชนิดอื่น

นักธรณีเคมี เอฟ.ดับเบิลยู.คล้าก คำนวณว่ามากกว่าร้อยละ 47 เล็กน้อยของมวลของเปลือกโลกประกอบขึ้นจากออกซิเจน หินที่พบได้ทั่วไปที่เป็นส่วนประกอบของเปลือกโลกนั้นเป็นสารประกอบออกไซด์แทบทั้งหมด ส่วนคลอรีน กำมะถัน และฟลูออรีน ถือว่าเป็นข้อยกเว้นสำคัญในบรรดาหินทั้งหลายซึ่งเมื่อรวมปริมาณทั้งหมดแล้วมักจะต่ำกว่าร้อยละ 1 หินออกไซด์หลักได้แก่ ซิลิกา อลูมินา ปูนขาว แมกนีเซีย ออกไซด์ของเหล็ก โพแทช และโซดา ซิลิกาโดยทั่วไปแล้วมีสมบัติเป็นกรด ทำให้แร่ซิลิเกตรวมถึงแร่ทั่วไปชนิดอื่น ๆ ที่มาจากหินอัคนีก็มีลักษณะเช่นนี้ จากการคำนวณบนฐานการวิเคราะห์กว่า 1,672 ตัวอย่างจากหินทุกชนิด คล้ากสรุปว่าหินร้อยละ 99.22 ประกอบขึ้นจากสารประกอบออกไซด์ 11 ชนิด (ตามตารางด้านขวา) โดยองค์ประกอบแบบอื่นมีปรากฏในปริมาณเพียงเล็กน้อย

เช่นเดียวกับดาวเคราะห์หินดวงอื่น ๆ โครงสร้างภายในของโลกแบ่งออกได้เป็นชั้น ๆ ด้วยคุณสมบัติทางกายภาพ (กลศาสตร์ภาวะต่อเนื่อง) หรือคุณสมบัติทางเคมี แต่ที่ต่างจากดาวเคราะห์หินอื่นคือ การมีแก่นชั้นนอกและแก่นชั้นในแยกกันอย่างเด่นชัด โครงสร้างทั้งหมดแบ่งออกได้เป็น เปลือกโลก แมนเทิล แก่นชั้นนอก และแก่นชั้นใน

ชั้นนอกของโลกเป็นเปลือกซิลิเกตแข็งซึ่งแยกออกชัดเจนด้วยคุณสมบัติทางเคมีโดยมีชั้นแมนเทิลแข็งความหนืดสูงอยู่เบื้องล่าง เปลือกโลกมีปริมาตรรวมน้อยกว่าร้อยละ 1 ของโลกเล็กน้อย แยกออกจากชั้นแมนเทิลโดยความไม่ต่อเนื่องโมโฮโรวิคซิช (โครเอเชีย: [moxor??i?t??it??]) เปลือกโลกส่วนบนมีความหนาแน่นระหว่าง 2.69 - 2.74 ก./ซม.3 ซึ่งต่ำกว่าเปลือกโลกส่วนล่างที่มีความหนาแน่นระหว่าง 3.0 - 3.25 ก./ซม.3 ลึกลงในเปลือกโลกอุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเพิ่มขึ้น 30 องศาทุก ๆ กิโลเมตรในเปลือกส่วนบน แต่ความต่างของอุณหธรณีจะลดลงในเปลือกส่วนล่าง และขึ้นถึง 400 องศาเซลเซียสที่ขอบเขตต่อกับแมนเทิล ความหนาของเปลือกโลกมีความแตกต่างกันตั้งแต่บริเวณรอยเลื่อนแยกตัวซึ่งเป็นบริเวณที่บางที่สุด แผ่นเปลือกสมุทรที่มีความหนาไม่เกิน 10 กิโลเมตร ไปจนถึงความหนาหลายสิบกิโลเมตรในแผ่นเปลือกทวีป แผ่นเปลือกโลกกับส่วนของแมนเทิลชั้นบนที่แกร่งและเย็นนั้น รวมกันเรียกว่าธรณีภาค และธรณีภาคนี้เองที่แผ่นธรณีภาคประกอบกันขึ้น

แผ่นเปลือกสมุทร (หรือเปลือกโลกภาคพื้นสมุทร) มีความหนา 7-10 กิโลเมตร ความหนาแน่นประมาณ 2.9 ก./ซม.3 ประกอบด้วยหินเมฟิก เช่นบะซอลต์ ตอนกลางเป็นไดอะเบส ตอนล่างประกอบด้วยแกบโบร ตามธรณีเคมีเรียกว่าไซมา (อังกฤษ: sima, si- จาก silica และ ma- จาก magnesium) มีซิลิกา เหล็ก และแมกนีเซียม เป็นองค์ประกอบสำคัญ แผ่นเปลือกมหาสมุทรโดยมากแล้วมีอายุเพียง 100 ล้านปี อาจถึง 200 ล้านปีในบางบริเวณ พื้นทะเลเมดิเตอเรเนียนตะวันออกซึ่งเป็นส่วนเหลือของมหาสมุทรโบราณเททีสคาดว่ามีอายุเก่าแก่ถึง 270 ล้านปี

แผ่นเปลือกทวีป (หรือเปลือกโลกภาคพื้นทวีป) มีปริมาตรราว 7 พันล้านลูกบาศก์กิโลเมตร หรือร้อยละ 70 ของเปลือกโลกทั้งหมด และคิดเป็นร้อยละ 40 ของพื้นผิวโลก มีความหนา 25-70 กิโลเมตร ความหนาแน่นประมาณ 2.7 ก./ซม.3 ต่ำกว่าเปลือกมหาสมุทร ประกอบด้วยหินอัคนี หินแปร และหินตะกอนหลายชนิดรวมถึงบริเวณบ่าทวีป ตามธรณีเคมีเรียกว่าไซอัล (อังกฤษ: sial, si- จาก silica และ al- จาก aluminium) มีซิลิกา และอลูมินา เป็นองค์ประกอบสำคัญในลักษณะหินเฟลสิก และแกรนิตชนิดต่าง ๆ เชื่อว่าที่ความลึกระดับหนึ่ง ไซอัลจะมีคุณสมบัติทางกายภาพใกล้เคียงกับไซมา โดยแยกจากกันด้วยความไม่ต่อเนื่องคอนราด แผ่นเปลือกทวีปโดยเฉลี่ยแล้วมีอายุประมาณ 2.0 พันล้านปี ส่วนที่เก่าที่สุดมีอายุประมาณ 3.7 - 4.28 พันล้านปี

แมนเทิลหรือเนื้อโลก เป็นเปลือกหินซิลิเกตความหนาประมาณ 2,900 กิโลเมตร (1,800 ไมล์) ประกอบขึ้นเป็นราวร้อยละ 84 ของปริมาตรโลก มีอุณหภูมิตั้งแต่ 500-900 องศาเซลเซียส (932-1,652 องศาฟาเรนไฮต์) ณ ขอบเขตบนต่อกับเปลือกโลกไปจนถึง 4,000 องศาเซลเซียส (7,230 องศาฟาเรนไฮต์) ที่ขอบเขตต่อกับแก่น ตั้งแต่ขอบเขตต่อกับเปลือกโลกลงมาจนถึงระดับ 410 กิโลเมตรใต้พื้นผิวเรียกว่าแมนเทิลชั้นบน ส่วนบนสุดที่เป็นหินแกร่งหนาประมาณ 50-120 กิโลเมตร (31-75 ไมล์) ประกอบเป็นชั้นล่างสุดของธรณีภาค ส่วนล่างลงมาที่หนาประมาณ 200 กิโลเมตร (120 ไมล์) เป็นหินส่วนที่ความหนืดต่ำกว่าเรียกว่าฐานธรณีภาค ความดันที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามระดับความลึกนั้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผลึกของหินองค์ประกอบเกิดเป็นชั้นเปลี่ยนผ่านในระดับความลึก 410-660 กิโลเมตร (250-410 ไมล์) ใต้พื้นผิวซึ่งแยกแมนเทิลชั้นล่างและชั้นบนออกจากกัน ที่ระดับความลึก 660-2,891 กิโลเมตร (410-1,796 ไมล์) คือแมนเทิลชั้นล่าง มีความดันที่ขอบเขตต่อกับแก่นประมาณ 136 พันล้านปาสกาล (1.4 ล้านบรรยากาศ) ขอบเขตแก่นต่อกับแมนเทิลมีความหนาผันแปรเฉลี่ยประมาณ 200 กิโลเมตร (120 ไมล์) แยกจากแก่นเหลวด้านล่างด้วยความไม่ต่อเนื่องกูเทนเบิร์ก

แก่นโลกหรือแกนโลกประกอบด้วยแก่นชั้นนอกสภาพเหลวที่มีความหนืดต่ำอย่างยิ่งวางอยู่เหนือแก่นชั้นในสภาพแข็ง โดยแยกออกจากกันด้วยความไม่ต่อเนื่องเลห์มานน์-บุลเลน คาดว่าทั้งสองชั้นมีองค์ประกอบคล้ายกันคือเป็นโลหะผสมเหล็ก-นิกเกิลโดยมีส่วนใหญ่ราวร้อยละ 80 เป็นเหล็ก และมีธาตุเบาอย่างอื่น ๆ อีกเล็กน้อย ชั้นนอกมีความหนาประมาณ 2,270 กิโลเมตร ในขณะที่ชั้นในมีความหนาประมาณ 1,220 กิโลเมตร (ราวร้อยละ 70 ของรัศมีของดวงจันทร์) แก่นชั้นนอกเป็นบริเวณที่กำเนิดสนามแม่เหล็กโดยมีความเข้มสนามแม่เหล็กภายในเฉลี่ยกว่าห้าสิบเท่าของพื้นผิวโลก การสูญเสียความร้อนไปอย่างต่อเนื่องของบริเวณภายในของโลกทำให้แก่นชั้นในโตขึ้นในอัตราประมาณ 1 มิลลิเมตรต่อปี และแก่นชั้นในนั้นน่าจะหมุนโดยมีอัตราเร็วเชิงมุมสูงกว่าบริเวณอื่นของดาวเล็กน้อยคือล้ำหน้าไปประมาณ 0.1-0.5 องศาต่อปี เชื่อกันว่าแก่นโลกมี ทองคำ ทองคำขาว และโลหะมีค่าชนิดอื่น ๆ อยู่มากมาย หากสกัดออกมาเทบนพื้นโลก โลหะเหล่านั้นจะสามารถปกคลุมพื้นที่ทั้งหมดของโลกได้ด้วยระดับความหนาราว 0.45 เมตร

ความร้อนภายในโลก เป็นผลรวมมาจากความร้อนที่ยังหลงเหลืออยู่จากการก่อตัวของดาวเคราะห์ราวร้อยละ 20 อีกร้อยละ 80 เป็นความร้อนที่ได้จากการสลายตัวกัมมันตรังสีไอโซโทปหลักที่สร้างความร้อนภายในโลกคิอ โพแทสเซียม-40 ยูเรเนียม-238 ยูเรเนียม-235 และทอเรียม-232 ที่ใจกลางโลกคาดว่าน่าจะมีอุณหภูมิสูงถึง 6,000 องศาเซลเซียส (10,830 องศาฟาเรนไฮต์) และมีความดันสูงถึง 360 พันล้านปาสกาล ด้วยการที่ความร้อนส่วนใหญ่มาจากการสลายตัวกัมมันตรังสี นักวิทยาศาสตร์จึงเชื่อว่าในช่วงต้นของประวัติศาสตร์โลกก่อนหน้าที่ไอโซปครึ่งชีวิตสั้นทั้งหลายจะหมดไป การสร้างความร้อนของโลกจะต้องสูงกว่าในปัจจุบันมาก คาดว่าประมาณ 3 พันล้านปีที่แล้วความร้อนส่วนเกินที่สร้างขึ้นน่าจะมากกว่าทุกวันนี้สองเท่า ซึ่งจะไปเพิ่มความต่างอุณหภูมิตามรัศมี เพิ่มอัตราการพาความร้อนโดยแมนเทิลและการแปรสัณฐานแผ่นธรณีภาค และทำให้หินอัคนีบางประเภทอย่างเช่นโคมาไทต์เกิดขึ้นได้ในขณะที่แทบไม่มีการสร้างในปัจจุบัน

ค่าเฉลี่ยของการสูญเสียความร้อนจากโลกอยู่ที่ 87 มิลลิวัตต์ต่อตารางเมตร คิดรวมทั้งโลกจะสูญเสียความร้อนที่ 4.42 ? 1013 วัตต์ ส่วนของพลังงานความร้อนจากแก่นส่งผ่านขึ้นมายังเปลือกโลกโดยแมนเทิลพลูม ซึ่งเป็นรูปแบบการพาความร้อนประกอบด้วยการไหลขึ้นของหินอุณหภูมิสูง การพลูมนี้สามารถทำให้เกิดจุดร้อนและทุ่งบะซอลท์ ความร้อนจากภายในโลกส่วนใหญ่สูญเสียไปกับการแปรสัณฐานแผ่นธรณีภาค โดยไหลขึ้นของแมนเทิลสัมพันธ์กับสันกลางมหาสมุทร หนทางการสูญเสียความร้อนสำคัญสุดท้ายคือการเหนี่ยวนำผ่านธรณีภาคซึ่งปรากฏใต้มหาสมุทรเป็นส่วนใหญ่เพราะเปลือกโลกบริเวณนั้นบางมากกว่าแผ่นเปลือกทวีปมาก

ธรณีภาคอันเป็นชั้นนอกของโลกที่แกร่งในเชิงกลนั้นมีการแตกออกเป็นหลาย ๆ ชิ้น เรียกว่าแผ่นธรณีภาค แผ่นเหล่านี้เป็นส่วนแข็งที่เคลื่อนที่ไปสัมพันธ์กับแผ่นใกล้เคียงอื่นโดยมีขอบเขตระหว่างกันอย่างใดอย่างหนึ่งในสามแบบนี้ได้แก่ ขอบเขตแบบเข้าหากัน ซึ่งแผ่นทั้งสองเลื่อนมาชนกัน ขอบเขตแบบแยกจากกัน ซึ่งแผ่นทั้งสองเลื่อนออกห่างกันไป และขอบเขตแปลง (รอยเลื่อนแปรสภาพ) ซึ่งแผ่นทั้งสองไถลผ่านกันทางด้านข้าง การเกิดแผ่นดินไหว กิจกรรมภูเขาไฟ การกำเนิดภูเขา และร่องลึกก้นสมุทร สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดแนวขอบเขตของแผ่นเหล่านี้ฐานธรณีภาคซึ่งแข็งแต่มีความหนืดต่ำอันเป็นส่วนของแมนเทิลชั้นบนนั้นเป็นฐานหนุนแผ่นธรณีภาคเบื้องบนและสามารถไหลเคลื่อนที่ไปพร้อมกัน การเคลื่อนที่ดังกล่าวสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับรูปแบบการพาความร้อนภายในแมนเทิล

เมื่อแผ่นธรณีภาคมีการเคลื่อนตัวไปตามผิวดาว พื้นมหาสมุทรจะถูกพรากกลับ (มุดตัว) ภายใต้ขอบปะทะของแผ่นเปลือกตามแนวขอบเขตแบบเข้าหากัน ในเวลาเดียวกัน การไหลเลื่อนขึ้นของเนื้อแมนเทิลที่ขอบเขตแบบแยกจากกันจะก่อให้เกิดสันกลางมหาสมุทร กระบวนการต่าง ๆ เหล่านี้ประกอบเข้าด้วยกันทำให้เกิดการรีไซเคิลแผ่นเปลือกมหาสมุทรกลับสู่แมนเทิลอย่างต่อเนื่อง ด้วยการรีไซเคิลนี้เองพื้นมหาสมุทรส่วนใหญ่จึงมีอายุเก่าแก่ไม่เกินกว่า 100 ล้านปี แผ่นเปลือกมหาสมุทรที่เก่าแก่ที่สุดอยู่ในบริเวณแปซิฟิกตะวันตกโดยมีอายุประมาณกว่า 200 ล้านปี เมื่อเทียบกันแล้ว แผ่นเปลือกทวีปที่เก่าแก่ที่สุดมีอายุถึง 4,030 ล้านปี

แผ่นธรณีภาคขนาดใหญ่ทั้งเจ็ดประกอบด้วย แผ่นแปซิฟิก อเมริกาเหนือ ยูเรเชีย แอฟริกา แอนตาร์กติก อินโด-ออสเตรเลีย และอเมริกาใต้ ส่วนแผ่นอื่นที่มีความโดดเด่นประกอบด้วย แผ่นอาระเบีย แผ่นแคริบเบียน แผ่นนาซกาทางชายฝั่งตะวันตกของอเมริกาใต้ และแผ่นสโกเทียทางตอนใต้ของมหาสมุทรแอตแลนติก แผ่นออสเตรเลียได้รวมเข้ากับแผ่นอินเดียในระหว่างเวลา 50 ถึง 55 ล้านปีก่อน แผ่นที่มีการเคลื่อนที่เร็วที่สุดคือแผ่นมหาสมุทร โดยแผ่นโคคอสเคลื่อนที่ด้วยอัตราเร็ว 75 มิลลิเมตร/ปี และแผ่นแปซิฟิกเคลื่อนที่ด้วยอัตราเร็ว 52-69 มิลลิเมตร/ปี ในอีกทางหนึ่งแผ่นที่มีการเคลื่อนที่ช้าที่สุดคือแผ่นยูเรเชียซึ่งดำเนินไปด้วยอัตราเร็วปกติประมาณ 21 มิลลิเมตร/ปี

ภูมิประเทศของโลกมีความผันแปรอย่างหลากหลายจากที่หนึ่งสู่อีกที่หนึ่ง พื้นที่กว่าร้อยละ 70.8 ถูกปกคลุมด้วยน้ำ โดยจำนวนมากเป็นส่วนของบ่าทวีปที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล คิดเป็นพื้นที่เท่ากับ 361.132 ล้านตารางกิโลเมตร (139.43 ล้านตารางไมล์) พื้นที่ใต้น้ำเหล่านี้มีทั้งที่เป็นโครงสร้างภูเขาอันประกอบด้วยระบบสันกลางมหาสมุทรทอดยาวไปทั่วโลกเช่นเดียวกับภูเขาไฟใต้ทะเลร่องลึกก้นสมุทร หุบเหวใต้ทะเล ที่ราบสูงพื้นสมุทร และที่ราบก้นสมุทร พื้นที่ที่เหลืออีกราวร้อยละ 29.2 คิดเป็นเท่ากับ 148.94 ล้านตารางกิโลเมตร (57.51 ล้านตารางไมล์) ไม่ถูกน้ำปกคลุมประกอบด้วยภูเขา ทะเลทราย ที่ราบ ที่ราบสูง และภูมิประเทศรูปแบบอื่น ๆ

พื้นผิวของโลกมีการแปรเปลี่ยนรูปร่างไปเรื่อย ๆ ตามคาบเวลาทางธรณีวิทยาอันเนื่องมาจากการแปรสัณฐานแผ่นธรณีภาคและการกัดเซาะ โครงสร้างพื้นผิวมีการก่อตัวขึ้นหรือเปลี่ยนผิดรูปไปตามกิจกรรมทางธรณี ทั้งจากการกัดกร่อนอย่างสม่ำเสมอและการกัดเซาะจากหยาดน้ำฟ้า วัฏจักรอุณหภูมิ และผลกระทบทางเคมี การเกิดธารน้ำแข็ง การกัดเซาะชายฝั่ง การก่อตัวขึ้นของแนวปะการัง ตลอดจนการพุ่งชนโดยอุกกาบาตขนาดใหญ่ ก็ล้วนส่งผลให้ภูมิประเทศเปลี่ยนรูปไป

แผ่นเปลือกทวีปประกอบด้วยวัตถุความหนาแน่นต่ำอย่างเช่นหินอัคนีแกรนิตและแอนดีไซต์ ที่พบน้อยกว่าคือบะซอลต์ซึ่งเป็นหินภูเขาไฟความหนาแน่นสูงและเป็นองค์ประกอบหลักของพื้นมหาสมุทรหินตะกอนซึ่งก่อตัวขึ้นจากการสะสมตัวของตะกอนที่ทับถมบีบอัดตัวเข้าด้วยกัน กว่าร้อยละ 75 ของพื้นผิวทวีปถูกปกคลุมด้วยหินตะกอนโดยคิดเป็นองค์ประกอบราวร้อยละ 5 ของเปลือกโลก วัตถุหินที่พบบนโลกรูปแบบที่สามคือหินแปร ก่อกำเนิดโดยแปรเปลี่ยนมาจากหินดั้งเดิมที่มีอยู่ก่อนผ่านความดันสูง อุณหภูมิสูง หรือทั้งสองประการ แร่ซิลิเกตที่พบมากที่สุดบนผิวโลกประกอบด้วย ควอตซ์ เฟลด์สปาร์ แอมฟิโบล ไมกา ไพรอกซีน และโอลิวีนแร่คาร์บอเนตที่พบทั่วไปประกอบด้วย แคลไซต์ (พบในหินปูน) และโดโลไมต์

เพโดสเฟียร์เป็นชั้นนอกสุดของพื้นผิวทวีปของโลก ประกอบด้วยดินและสิ่งอื่น ๆ ที่อยู่ในกระบวนการสร้างดิน ดำรงอยู่ในฐานส่วนเชื่อมโยงธรณีภาค บรรยากาศ ไฮโดรสเฟียร์ และชีวมณฑลเข้าด้วยกัน มีพื้นที่ที่เหมาะแก่การเพาะปลูกรวมร้อยละ 13.31 ของพื้นดินทั้งหมด โดยร้อยละ 4.71 เอื้อปลูกพืชถาวร เกือบร้อยละ 40 ของพื้นผิวดินของโลกถูกใช้ไปในการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ หรือคิดเป็นประมาณ 13 ล้านตารางกิโลเมตรสำหรับการเพาะปลูก และประมาณ 34 ล้านตารางกิโลเมตรสำหรับทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์

ระดับความสูงของพื้นผิวดินมีความแตกต่างกันตั้งแต่จุดต่ำที่สุดที่ -418 เมตร ณ ทะเลเดดซี ไปจนถึงจุดสูงที่สุดตามการประมาณในปี 2005 (พ.ศ. ๒๕๔๘) ที่ 8,848 เมตร ณ ยอดเขาเอเวอเรสต์ ค่าเฉลี่ยความสูงของพื้นดินเหนือระดับน้ำทะเลอยู่ที่ 840 เมตร

นอกเหนือจากการแบ่งโลกตามหลักภูมิศาสตร์ออกเป็นซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้โดยมีจุดศูนย์กลางที่ขั้วโลกแล้ว ยังมีการแบ่งโลกตามนิยมออกเป็นซีกโลกตะวันออก และซีกโลกตะวันตก พื้นผิวโลกเองก็มีการแบ่งตามแบบแผนได้เป็นทวีปทั้งเจ็ดรวมถึงทะเลต่าง ๆ อีกมากมาย โดยที่มนุษย์มีการลงหลักปักฐานรวมตัวกันขึ้นบนโลก พื้นที่เกือบทั้งหมดของโลกจึงได้ถูกแบ่งออกเป็นชาติต่าง ๆ กัน

การมีน้ำอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์บนพื้นผิวโลกเป็นลักษณะพิเศษที่จำแนกโลกอันเป็น "ดาวเคราะห์สีน้ำเงิน" ออกจากดาวเคราะห์อื่น ๆ ในระบบสุริยะ ไฮโดรสเฟียร์ของโลกมีมหาสมุทรเป็นองค์ประกอบส่วนใหญ่ ส่วนที่เหลือประกอบด้วยน้ำทั้งหมดบนพื้นผิวโลกได้แก่ ทะเลในแผ่นดิน ทะเลสาบ แม่น้ำ น้ำใต้ดินลึกลงไปถึงระดับ 2,000 เมตร ตำแหน่งใต้น้ำที่ลึกที่สุดคือ แชลเลนเจอร์ดีปบริเวณร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนาในมหาสมุทรแปซิฟิก โดยมีความลึกที่ 10,911.4 เมตร[n 9]

มหาสมุทรรวมมีมวลทั้งสิ้นประมาณ 1.35?1018 เมตริกตัน หรือราว 1 ใน 4,400 ของมวลทั้งหมดของโลก มหาสมุทรปกคลุมเป็นพื้นที่ 3.618?108 ตารางกิโลเมตร โดยมีความลึกเฉลี่ยเท่ากับ 3,682 เมตร เป็นผลให้มีปริมาตรโดยประมาณเท่ากับ 1.332?109 ลูกบาศก์กิโลเมตร หากพื้นผิวเปลือกโลกทั้งหมดมีความสูงเท่ากันคือกลมเสมอกันทั้งใบ โลกก็จะกลายเป็นมหาสมุทรทั้งหมดด้วยความลึกราว 2.7 ถึง 2.8 กิโลเมตร

น้ำประมาณร้อยละ 97.5 เป็นน้ำเค็ม อีกร้อยละ 2.5 ที่เหลือเป็นน้ำจืด ส่วนใหญ่ของน้ำจืดหรือราวร้อยละ 68.7 อยู่ในรูปของน้ำแข็งในน้ำแข็งขั้วโลกและธารน้ำแข็งต่าง ๆ

ค่าเฉลี่ยความเค็มของมหาสมุทรโลกอยู่ที่ประมาณ 35 กรัมเกลือต่อกิโลกรัมน้ำทะเล (มีเกลือร้อยละ 3.5) เกลือส่วนมากแล้วถูกขับออกมาจากกิจกรรมภูเขาไฟหรือไม่ก็เป็นส่วนที่ชะออกมาจากหินอัคนีเย็น มหาสมุทรยังเป็นแหล่งสะสมของก๊าซในบรรยากาศที่ละลายได้ซึ่งมีความจำเป็นอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตมากมายที่อาศัยในน้ำ น้ำทะเลถือว่ามีอิทธิพลสำคัญต่อภูมิอากาศโลกด้วยบทบาทการเป็นแหล่งสะสมความร้อนใหญ่ของมหาสมุทร ช่วยกระจายอุณหภูมิของมหาสมุทรให้เคลื่อนไปทำให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงตามอย่างมีนัยสำคัญ ตัวอย่างเช่นปรากฏการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นเป็นรอบในซีกโลกใต้

ความกดอากาศบนพื้นผิวโลกมีค่าเฉลี่ยที่ 101.325 กิโลปาสกาล คิดเป็นอัตราความสูงประมาณ 8.5 กิโลเมตร มีองค์ประกอบเป็นไนโตรเจนร้อยละ 78 ออกซิเจนร้อยละ 21 รวมถึงปริมาณเล็กน้อยของไอน้ำ คาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซในรูปโมเลกุลชนิดอื่น ๆ ระดับความสูงของชั้นโทรโพสเฟียร์ผันแปรไปตามละติจูด ในระยะตั้งแต่ 8 กิโลเมตรที่บริเวณขั้วโลกไปจนถึง 17 กิโลเมตรที่เส้นศูนย์สูตร โดยมีความเบี่ยนเบนเล็กน้อยจากผลของสภาพอากาศและปัจจัยหลายประการตามฤดูกาล

ชีวมณฑลของโลกส่งผลเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญต่อบรรยากาศ การสังเคราะห์แสงแบบสร้างออกซิเจนวิวัฒน์ขึ้นเมื่อราว 2.7 พันล้านปีก่อน ได้สร้างบรรยากาศที่มี ไนโตรเจน-ออกซิเจน เด่นดังเช่นในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงนี้ช่วยเกื้อหนุนให้เกิดการแพร่กระจายของสิ่งมีชีวิตที่ใช้ออกซิเจนเช่นเดียวกับการก่อกำเนิดชั้นโอโซนซึ่งทำหน้าที่ปิดกั้นรังสีอัลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์เปิดโอกาสให้สิ่งมีชีวิตอยู่อาศัยได้บนพื้นดิน บทบาทอย่างอื่นของบรรยากาศที่จำเป็นต่อสิ่งมีชีวิตประกอบด้วยการเคลื่อนย้ายไอน้ำ อำนวยก๊าซที่เป็นประโยชน์ ทำให้สะเก็ดดาวขนาดเล็กเผาไหม้ไปหมดก่อนที่จะกระทบพื้น และการปรับควบคุมอุณหภูมิซึ่งรู้จักกันในชื่อปรากฏการณ์เรือนกระจก โมเลกุลของก๊าซสัดส่วนเล็กน้อยภายในบรรยากาศทำหน้าที่กักเก็บพลังงานความร้อนที่แผ่ออกจากพื้นดินเป็นผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น ไอน้ำ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และโอโซน เป็นก๊าซเรือนกระจกหลักในบรรยากาศ หากปราศจากปรากฏการณ์กักเก็บความร้อนเช่นนี้ อุณหภูมิเฉลี่ยที่พื้นผิวจะเป็น -18 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับอุณหภูมิปัจจุบันที่ +15 องศาเซลเซียสแล้วสิ่งมีชีวิตอาจดำรงอยู่ไม่ได้

บรรยากาศของโลกไม่มีขอบเขตที่ชัดเจนโดยจะบางลงและค่อย ๆ เลือนหายไปสู่อวกาศภายนอก สามในสี่ของมวลของบรรยากาศอยู่ในระยะเพียง 11 กิโลเมตรเหนือพื้นผิว มีชั้นล่างสุดคือโทรโพสเฟียร์ พลังงานจากดวงอาทิตย์จะทำให้ชั้นนี้รวมถึงพื้นผิวเบื้องล่างร้อนขึ้น ส่งผลให้อากาศเกิดการขยายตัว อากาศความหนาแน่นต่ำจะลอยขึ้น อากาศความหนาแน่นสูงกว่าและเย็นกว่าจะเข้ามาแทนที่ เกิดเป็นการหมุนเวียนของบรรยากาศซึ่งขับเคลื่อนสภาพอากาศและภูมิอากาศผ่านการกระจายพลังงานความร้อน

แถบการหมุนเวียนของบรรยากาศแหลักประกอบด้วยลมค้าในบริเวณศูนย์สูตรที่ละติจูดต่ำกว่า 30 องศา และเวสเทอร์ลายในแถบละติจูดกลางระหว่าง 30 และ 60 องศากระแสน้ำในมหาสมุทรก็เป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดความเป็นไปของภูมิอากาศ โดยเฉพาะการหมุนเวียนเทอร์โมเฮไลน์ซึ่งกระจายพลังงานความร้อนจากมหาสมุทรแถบศูนย์สูตรไปยังบริเวณขั้วโลก

ไอน้ำเกิดขึ้นโดยระเหยจากพื้นผิวเคลื่อนย้ายไปยังบริเวณอื่น ๆ ผ่านแบบแผนที่เป็นวงจรในบรรยากาศ เมื่อเงื่อนไขของบรรยากาศยอมให้มวลอากาศร้อนชื้นยกตัวขึ้น น้ำเหล่านี้จะควบแน่นและตกลงสู่พื้นผิวในรูปหยาดน้ำฟ้า ปริมาณน้ำส่วนใหญ่จะเคลื่อนย้ายไปยังพื้นที่ลุ่มต่ำผ่านระบบแม่น้ำและสุดท้ายกลับคืนสู่มหาสมุทรหรือไม่ก็สะสมอยู่ในทะเลสาบ วัฏจักรของน้ำนี้เป็นกลไกที่สำคัญอย่างยิ่งที่ค้ำจุนสรรพชีวิตบนผืนแผ่นดิน และเป็นปัจจัยหลักในการกัดเซาะโครงสร้างภูมิประเทศตลอดระยะเวลาทางธรณีวิทยา รูปแบบของหยาดน้ำฟ้ามีความผันแปรอย่างกว้างขวางจากปริมาณน้ำหลายเมตรไปจนถึงเพียงไม่กี่มิลลิเมตรต่อปี ทั้งการหมุนเวียนของบรรยากาศ ลักษณะทางภูมิประเทศ และความแตกต่างของอุณหภูมิ เป็นตัวกำหนดหยาดน้ำฟ้าเฉลี่ยที่ตกในแต่ละบริเวณ

ปริมาณพลังงานจากดวงอาทิตย์ที่มาถึงยังพื้นผิวโลกจะลดลงตามละติจูดที่สูงขึ้น ยิ่งมีละติจูดสูงเท่าใดแสงจากดวงอาทิตย์ก็ยิ่งมาถึงพื้นด้วยมุมที่ต่ำลง และต้องส่องผ่านแนวหนาแน่นของชั้นบรรยากาศ เป็นผลให้อุณหภูมิของอากาศเฉลี่ยตลอดทั้งปีที่ระดับน้ำทะเลลดลงราว 0.4 องศาเซลเซียสทุก ๆ หนึ่งองศาของละติจูดที่ออกห่างจากเส้นศูนย์สูตร พื้นผิวโลกสามารถแบ่งย่อยได้เป็นแถบละติจูดจำเพาะที่มีภูมิอากาศเช่นเดียวกันโดยประมาณ อาณาเขตตั้งแต่เส้นศูนย์สูตรไปจนถึงบริเวณขั้วโลกจำแนกออกเป็นภูมิอากาศเขตร้อนหรือเขตศูนย์สูตร เขตใกล้เขตร้อน เขตอบอุ่น และเขตขั้วโลก ภูมิอากาศยังสามารถจัดแบ่งตามอุณหภูมิและหยาดน้ำฟ้าที่ปรากฏตามแต่ละบริเวณอันมีลักษณะของมวลอากาศเป็นแบบแผนเช่นเดียวกัน โดยทั่วไปใช้ระบบการจัดจำแนกภูมิอากาศแบบโคบเพน (ต่อมาได้มีการปรับปรุงโดยรูดอล์ฟ ไกเกอร์ ลูกศิษย์ของวลาดิเมียร์ โคบเพน) ออกเป็นห้ากลุ่มใหญ่ (ร้อนชื้น แล้ง ชื้นละติจูดกลาง ทวีป และหนาวขั้วโลก) ซึ่งแบ่งลงเป็นภูมิอากาศย่อยที่จำเพาะมากขึ้นได้อีกหลายแบบ

เหนือชั้นโทรโพสเฟียร์ขึ้นไป บรรยากาศแบ่งโดยทั่วไปได้เป็นชั้นสตราโทสเฟียร์ มีโซสเฟียร์ และเทอร์โมสเฟียร์ แต่ละชั้นมีอัตราการเหลื่อมซ้อนไม่เท่ากันซึ่งกำหนดจากอัตราการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิตามระดับความสูง พ้นจากชั้นเหล่านี้ขึ้นไปเรียกว่าเอกโซสเฟียร์ ซึ่งบางลงเรื่อย ๆ ไปจนถึงแม็กนีโตสเฟียร์ซึ่งเป็นบริเวณที่สนามธรณีแม่เหล็กกระทบกันกับลมสุริยะ ภายในชั้นสตราโทสเฟียร์มีชั้นโอโซนซึ่งเป็นองค์ประกอบที่มีส่วนช่วยป้องกันพื้นผิวโลกจากรังสีอัลตราไวโอเล็ตอันมีความสำคัญยิ่งต่อสรรพชีวิตบนโลก เส้นคาร์มานได้ถูกกำหนดขึ้นที่ระดับ 100 กิโลเมตรเหนือพื้นผิวโลก เป็นนิยามในทางปฏิบัติที่แบ่งขอบเขตระหว่างบรรยากาศและอวกาศภายนอกออกจากกัน

พลังงานความร้อนทำให้โมเลกุลบางส่วนที่ขอบนอกของบรรยากาศมีความเร็วเพิ่มสูงขึ้นจนถึงจุดหนึ่งที่สามารถหลุดพ้นออกจากแรงโน้มถ่วงของโลกได้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดการรั่วไหลของบรรยากาศออกสู่อวกาศอย่างช้า ๆ แต่สม่ำเสมอ เพราะไฮโดรเจนที่ไม่ได้ถูกยึดเหนี่ยวมีมวลโมเลกุลต่ำจึงสามารถขึ้นถึงความเร็วหลุดพ้นได้ง่ายกว่าและรั่วไหลออกสู่อวกาศภายนอกในอัตราที่สูงกว่าก๊าซอื่น ๆ การรั่วของไฮโดรเจนสู่อวกาศได้ช่วยสนับสนุนให้บรรยากาศโลกตลอดจนพื้นผิวเกิดการเปลี่ยนผันจากภาวะรีดิวซ์ในช่วงต้นมาเป็นภาวะออกซิไดซ์อย่างเช่นในปัจจุบัน การสังเคราะห์แสงเป็นแหล่งช่วยป้อนออกซิเจนอิสระ แต่ด้วยการสูญเสียไปซึ่งสารรีดิวซ์ดังเช่นไฮโดรเจนนี้เองจึงเชื่อกันว่าเป็นภาวะเริ่มต้นที่จำเป็นเพิ่มพูนขึ้นของออกซิเจนอย่างกว้างขวางในบรรยากาศ การที่ไฮโดรเจนสามารถหนีออกไปจากบรรยากาศได้จึงอาจส่งอิทธิพลต่อธรรมชาติของชึวิตที่เจริญพัฒนาขึ้นบนโลก ในปัจจุบันซึ่งบรรยากาศมีออกซิเจนเป็นจำนวนมากนั้น ไฮโดรเจนส่วนใหญ่จะเปลี่ยนเป็นน้ำก่อนที่จะมีโอกาสได้หลบหนีออกไป ในอีกทางหนึ่งส่วนใหญ่ของไฮโดรเจนที่สูญเสียไปนั้นมาจากการแตกสลายของมีเทนในบรรยากาศเบื้องบน

ส่วนหลักของสนามแม่เหล็กโลกถูกสร้างขึ้นจากแก่น ซึ่งเป็นที่ตั้งของกระบวนการไดนาโมอันเปลี่ยนพลังจลน์ของการเคลื่อนพาของไหลไปเป็นพลังงานไฟฟ้าและพลังงานสนามแม่เหล็ก ตัวสนามมีการแผ่กว้างออกจากบริเวณแก่นผ่านชั้นแมนเทิลและขึ้นสู่พื้นผิวโลกอันเป็นตำแหน่งที่ประมาณได้อย่างหยาบ ๆ เป็นแม่เหล็กคู่ควบ แต่ละขั้วของแม่เหล็กคู่ควบมีตำแหน่งใกล้เคียงกับขั้วโลกทางภูมิศาสตร์ ที่เส้นศูนย์สูตรของสนามแม่เหล็กมีความเข้มสนามแม่เหล็กที่พื้นผิวเท่ากับ 3.05 ? 10?5เทสลา และมีโมเมนต์แม่เหล็กคู่ควบของโลกที่ 7.91 ? 1015 เทสลา.เมตร3 การเคลื่อนที่พาในแก่นนั้นมีความยุ่งเหยิงทำให้ขั้วแม่เหล็กมีการเขยื้อนและเปลี่ยนแปลงแนวการวางตัวเป็นระยะ ๆ เป็นสาเหตุของการกลับขั้วสนามแม่เหล็กตามช่วงเวลาอย่างไม่สม่ำเสมอเฉลี่ยไม่กี่ครั้งในทุก ๆ ล้านปี โดยกลับขั้วครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อราว 700,000 ปีก่อน

สนามแม่เหล็กโลกที่ขยายเข้าสู่อวกาศกำหนดเป็นขอบเขตแม็กนีโตสเฟียร์ ไอออนและอิเล็กตรอนจากลมสุริยะได้เบี่ยงเบนไปโดยแม็กนีโตสเฟียร์และทำให้แม็กนีโตสเฟียร์เองถูกเบี่ยงเบนไปด้วย แรงดันจากลมสุริยะจะกดอัดด้านกลางวันของแม็กนีโตสเฟียร์จนมีระยะทางประมาณ 10 รัศมีโลก และทำให้ด้านกลางคืนของแม็กนีโตสเฟียร์ยืดขยายออกเป็นหางขนาดยาว ด้วยเหตุที่ความเร็วของลมสุริยะสูงกว่าความเร็วของคลื่นที่แผ่ออกจากลมสุริยะมาก จึงเกิดโบว์ช็อคเหนือเสียงในส่วนหน้าด้านกลางวันของแม็กนีโตสเฟียร์ภายในลมสุริยะ อนุภาคมีประจุที่อยู่ภายในแม็กนีโตสเฟียร์กำหนดเป็นโครงสร้างต่าง ๆ ได้แก่ พลาสมาสเฟียร์ซึ่งกำหนดนิยามโดยอนุภาคพลังงานต่ำที่มีวิสัยตามเส้นสนามแม่เหล็กขณะที่โลกหมุนรอบตัวเอง กระแสที่เกิดเป็นวงกำหนดโดยอนุภาคพลังงานปานกลางซึ่งเคลื่อนไปสัมพัทธ์กับสนามธรณีแม่เหล็กแต่ยังมีเส้นทางที่ยังอยู่ภายใต้อิทธิพลของสนามแม่เหล็ก และแถบเข็มขัดรังสีแวนอัลเลนซึ่งเกิดจากอนุภาคพลังงานสูงที่เคลื่อนที่อย่างสุ่มเป็นสำคัญและอีกนัยหนึ่งยังอยู่ภายในแม็กนีโตสเฟียร์

ระหว่างการเกิดพายุแม่เหล็ก อนุภาคมีประจุสามารถเบี่ยงทิศทางจากแม็กนีโตสเฟียร์ส่วนนอกเข้ามาในชั้นไอโอโนสเฟียร์ของโลกได้โดยตรงตามแนวเส้นสนาม ซึ่งในบริเวณนี้อะตอมที่อยู่ในบรรยากาศสามารถถูกกระตุ้นและกลายเป็นประจุอันเป็นสาเหตุของการเกิดแสงเหนือแสงใต้หรือออโรรา

คาบการหมุนรอบตัวเองของโลกสัมพัทธ์กับดวงอาทิตย์หรือวันสุริยะนั้นเท่ากับ 86,400 วินาที จากเวลาสุริยะกลาง (86,400.0025 วินาที เอสไอ) เพราะวันสุริยะของโลกในปัจจุบันยาวกว่าวันในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 เล็กน้อยอันเนื่องมาจากผลการเร่งจากแรงไทด์ ในแต่ะละวันจึงยาวขึ้นผันแปรไประหว่าง 0 ถึง 2 มิลลิวินาที เอสไอ

คาบการหมุนรอบตัวเองของโลกสัมพัทธ์กับดาวฤกษ์ไม่เคลื่อนที่เรียกว่าวันดาราคติโดยหน่วยงานการหมุนรอบตัวเองของโลกและระบบอ้างอิงสากล (IERS: International Earth Rotation and Reference Systems Service) คือ 86,164.098903691 วินาที จากเวลาสุริยะกลาง (ยูที (เวลาสากล) 1) หรือ 23ช 56น 4.098903691ว[n 10] คาบการหมุนรอบตัวเองของโลกสัมพัทธ์กับการหมุนควงหรือการเคลื่อนที่เฉลี่ยของวสันตวิษุวัตมักเรียกว่าวันดาวฤกษ์ คือ 86,164.09053083288 วินาที จากเวลาสุริยะกลาง (ยูที1) หรือ (23ช 56น 4.09053083288ว) ณ ปี 1982 (พ.ศ. ๒๕๒๕) ดังนั้นเองวันดาวฤกษ์จึงสั้นกว่าวันดาราคติประมาณ 8.4 มิลลิวินาที ความยาวของเวลาสุริยะกลางในหน่วยวินาทีเอสไอสามารถนำมาใช้อ้างอิงได้จากหน่วยงานไออีอาร์เอสสำหรับช่วงเวลาจากปี 1623-2005 (พ.ศ. ๒๑๖๖-๒๕๔๘) และปี 1962-2005 (พ.ศ. ๒๕๐๕-๒๕๔๘)

ต่างจากดาวตกในบรรยากาศและดาวเทียมวงโคจรต่ำต่าง ๆ วัตถุเทหฟ้าโดยมากมีการเคลื่อนที่ปรากฏไปทางด้านตะวันตกของท้องฟ้าของโลกในอัตรา 15 องศาต่อชั่วโมง หรือ 15 ลิปดาต่อนาที สำหรับวัตถุที่อยู่ใกล้กับเส้นศูนย์สูตรฟ้าจะเคลื่อนไปเทียบเท่ากับเส้นผ่านศูนย์กลางปรากฏของดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ในทุก ๆ สองนาที เมื่อมองจากพื้นโลกขนาดปรากฏโดยประมาณของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์นั้นถือว่าเท่ากัน

โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 150 ล้านกิโลเมตรในทุก ๆ 365.2564 วันสุริยะกลาง หรือหนึ่งปีดาวฤกษ์ ส่งผลให้การเคลื่อนที่ปรากฏของดวงอาทิตย์คล้อยไปทางตะวันออกเทียบกับดาวฤกษ์ฉากหลังในอัตราราวหนึ่งองศาต่อวัน หรือเทียบเท่าขนาดปรากฏของดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ในทุก ๆ 12 ชั่วโมง การเคลื่อนไปเช่นนี้ใช้เวลาเฉลี่ยราว 24 ชั่วโมงหรือหนึ่งวันสุริยะสำหรับการหมุนรอบตัวเองตามแกนครบหนึ่งรอบของโลกซึ่งดวงอาทิตย์กลับสู่เมอริเดียนอีกครั้ง ความเร็วของโลกในวงโคจรโดยเฉลี่ยประมาณ 29.8 กิโลเมตรต่อวินาที (107,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ซึ่งเร็วมากพอที่จะเคลื่อนผ่านระยะทางเท่ากันกับเส้นผ่านศูนย์กลางของโลกที่ประมาณ 12,742 กิโลเมตรในเจ็ดนาที และผ่านระยะทางถึงดวงจันทร์ที่ประมาณ 384,000 กิโลเมตร ในเวลาราว 3.5 ชั่วโมง

โลกและดวงจันทร์โคจรรอบจุดศูนย์กลางมวลร่วมในทุก ๆ 27.32 วัน สัมพัทธ์กับดาวฤกษ์พื้นหลัง เมื่อประกอบกันเข้ากับระบบโลก-ดวงจันทร์ โคจรไปรอบดวงอาทิตย์ เกิดเป็นคาบของเดือนจันทรคตินับจากอมาวสีหนึ่งไปอีกอมาวสีหนึ่งราว 29.53 วัน เมื่อมองจากขั้วเหนือท้องฟ้า การเคลื่อนที่ของโลก ดวงจันทร์ และการหมุนรอบแกนดาวของทั้งคู่ล้วนเป็นไปในทิศทวนเข็มนาฬิกา เมื่อมองจากจุดสูงเหนือขั้วเหนือของทั้งดวงอาทิตย์และโลก วงโคจรของโลกจะมีทิศทางทวนเข็มนาฬิการอบดวงอาทิตย์ วงโคจรและระนาบการหมุนนั้นไม่ได้วางตัวอยู่ในระนาบเดียวกันโดยแกนหมุนของโลกมีการเอียงประมาณ 23.4 องศาจากแนวตั้งฉากกับระนาบการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ (หรือสุริยวิถี) และระนาบการโคจรของดวงจันทร์รอบโลกมีการเอียง ?5.1 องศา เทียบกับระนาบโลก-ดวงอาทิตย์ หากปราศจากการเอียงเช่นนี้อุปราคาจะเกิดขึ้นในทุก ๆ สองสัปดาห์สลับกันไประหว่างจันทรุปราคาและสุริยุปราคา

ทรงกลมฮิลล์หรือทรงกลมอิทธิพลโน้มถ่วงของโลกมีรัศมีประมาณ 1.5 พันล้านเมตร หรือ 1,500,000 กิโลเมตร[n 11] เป็นระยะทางสูงสุดที่แรงโน้มถ่วงของโลกมีอิทธิพลเหนือกว่าดวงอาทิตย์และดาวเคราะห์อื่น ๆ ที่อยู่ห่างออกไป วัตถุใด ๆ จะต้องโคจรรอบโลกภายในรัศมีนี้หรือไม่ก็หลุดลอยออกไปโดยรบกวนเชิงโน้มถ่วงจากดวงอาทิตย์

โลกรวมทั้งระบบสุริยะทั้งหมดนั้นตั้งอยู่ในดาราจักรทางช้างเผือก และโคจรด้วยระยะห่างประมาณ 28,000 ปีแสงจากศูนย์กลางดาราจักร อยู่ในแขนเกลียวนายพรานเหนือกว่าระนาบดาราจักรประมาณ 20 ปีแสง

เนื่องมาจากการเอียงของแกนโลก ปริมาณของแสงอาทิตย์ที่ตกกระทบจุดใด ๆ บนพื้นผิวจึงผันแปรไปตามแต่ละช่วงของปี ก่อให้เกิดการเปลี่ยนฤดูกาลในแต่ละภูมิอากาศโดยฤดูร้อนในซีกโลกเหนือจะเกิดขึ้นเมื่อขั้วเหนือชี้เข้าหาดวงอาทิตย์ และฤดูหนาวจะเกิดขึ้นแทนที่เมื่อขั้วได้ชี้ออกไป ในระหว่างฤดูร้อนช่วงกลางวันจะมีความยาวนานกว่าและดวงอาทิตย์จะมีตำแหน่งสูงขึ้นบนท้องฟ้า ส่วนในฤดูหนาวภูมิอากาศจะหนาวเย็นลงโดยทั่วไปและช่วงกลางวันจะสั้นลง ในละติจูดเขตอบอุ่นทางเหนือดวงอาทิตย์จะขึ้นเหนือกว่าทิศตะวันออกจริงระหว่างครีษมายันและลับฟ้าเหนือกว่าทิศตะวันตกจริง (การณ์จะกลับกันในฤดูหนาว) ในช่วงหน้าร้อนของเขตอบอุ่นในซีกโลกใต้ดวงอาทิตย์จะขึ้นใต้กว่าทิศตะวันออกจริงและลับฟ้าไปใต้กว่าทิศตะวันตกจริง

เหนือกว่าอาร์กติกเซอร์เคิลขึ้นไปจะมีกรณีสุดขั้วชนิดที่ตลอดช่วงหนึ่งของปีจะไม่มีแสงอาทิตย์ส่องถึงเลย ยาวนานได้ถึงหกเดือนเต็มที่บริเวณขั้วโลกเหนือเอง เรียกว่ากลางคืนขั้วโลก ส่วนในซีกโลกใต้สถานการณ์จะกลับตรงกันข้ามโดยที่ขั้วโลกใต้วางตัวในแนวตรงข้ามกับขั้วโลกเหนือ อีกหกเดือนให้หลังขั้วโลกเหนือก็จะประสบกับอาทิตย์เที่ยงคืนคือเป็นกลางวันตลอด 24 ชั่วโมง และสถานการณ์ด้านขั้วโลกใต้ก็จะกลับกัน

โดยอนุสัญญาทางดาราศาสตร์ ฤดูกาลทั้งสี่นั้นกำหนดขอบเขตโดยอายันซึ่งเป็นจุดในวงโคจรที่แกนโลกเอียงเข้าหาหรือออกจากดวงอาทิตย์มากที่สุด และวิษุวัตซึ่งเป็นจุดที่ทิศทางการเอียงของแกนกับทิศทางสู่ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกัน สำหรับซีกโลกเหนือเหมายันจะเกิดขึ้นประมาณวันที่ 21 ธันวาคม ครีษมายันเกิดขึ้นใกล้กับวันที่ 21 มิถุนายน วสันตวิษุวัตเกิดขึ้นราววันที่ 20 มีนาคม และศารทวิษุวัตจะประมาณวันที่ 23 กันยายน สำหรับซีกโลกใต้สถานการณ์จะกลับกันโดยวันที่เกิดครีษมายันกับเหมายันและวสันตวิษุวัตกับศารทวิษุวัตจะสลับกัน

มุมการเอียงของแกนโลกถือว่ามีความเสถียรโดยอนุโลมตลอดคาบระยะเวลายาวนาน ความเอียงของแกนยังมีการส่ายซึ่งเป็นการเคลื่อนที่ขึ้นลงเล็กน้อยอย่างไม่สม่ำเสมอด้วยคาบการเกิดหลักราว 18.6 ปี ทิศทางการวางตัวของแกนโลกนอกเหนือจากมุมเอียงแล้วยังมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาในลักษณะการหมุนควงโดยครบรอบวัฏจักรในทุก ๆ เวลาประมาณ 25,800 ปี ลักษณะการหมุนควงนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้มีความแตกต่างกันระหว่างปีดาวฤกษ์กับปีฤดูกาลและทำให้ตำแหน่งดาวเหนือเคลื่อนที่ การเคลื่อนทั้งสองรูปแบบดังกล่าวเกิดขึ้นโดยความดึงดูดที่ผันแปรไปของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ที่กระทำต่อส่วนโป่งบริเวณศูนย์สูตรของโลก ขั้วโลกทั้งคู่ยังมีการเคลื่อนตำแหน่งได้หลายเมตรไปมาตามพื้นผิวโลก การเคลื่อนของขั้วนี้ประกอบกันขึ้นจากวัฏจักรที่หลากหลายซึ่งเรียกรวม ๆ กันว่าการเคลื่อนกึ่งคาบ ตัวอย่างการเคลื่อนลักษณะนี้ซึ่งเกิดเป็นประจำด้วยวัฏจักรประมาณ 14 เดือนก็คือการส่ายแชนด์เลอร์ อัตราเร็วในการหมุนรอบตัวเองของโลกยังผันแปรไปตามปรากฏการณ์ต่าง ๆ รู้จักกันในชื่อการผันแปรความยาวของวัน

ในสมัยปัจจุบัน จุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดของโลกเกิดขึ้นประมาณวันที่ 3 มกราคม และจุดไกลดวงอาทิตย์ที่สุดเกิดขึ้นประมาณวันที่ 4 กรกฎาคม วันเวลาที่เกิดขึ้นจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตลอดอันเนื่องมาจากการหมุนควงและปัจจัยอื่นทางวงโคจร ซึ่งเป็นไปตามแบบแผนที่เกิดซ้ำเป็นรอบ ๆ รู้จักกันในชื่อวัฏจักรมิลานโควิตช์ การเปลี่ยนแปลงระยะห่างระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ทำให้พลังงานจากดวงอาทิตย์มาถึงโลกเพิ่มขึ้น ณ จุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดเทียบกับจุดไกลดวงอาทิตย์ที่สุดประมาณร้อยละ 6.9[n 12] เพราะซีกโลกใต้มีการเอียงเข้าหาดวงอาทิตย์ในเวลาใกล้เคียงกันกับตำแหน่งที่โลกเดินทางเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด ซีกโลกใต้จึงได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์มากกว่าที่ซีกโลกเหนือได้รับเล็กน้อยตลอดช่วงเวลาของปี ผลที่เป็นอยู่นี้มีนัยสำคัญน้อยกว่าการเปลี่ยนแปลงพลังงานอันเนื่องมาจากความเอียงของแกนอยู่มาก และส่วนใหญ่ของพลังงานส่วนเกินที่ได้รับมาจะถูกดูดซับไปโดยน้ำอันเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของซีกโลกใต้

ดาวเคราะห์ที่สามารถเอื้อต่อสิ่งมีชีวิตให้ดำรงอยู่ได้อย่างถาวรเรียกว่า ดาวเคราะห์อยู่อาศัยได้ แม้ว่าสิ่งมีชีวิตทั้งหลายจะไม่ได้ถือกำเนิดมาจากที่นั้นก็ตาม การที่โลกมีน้ำของเหลวอย่างเหลือเฟือทำให้สิ่งแวดล้อมของโลกเอื้อให้โมเลกุลของสารอินทรีย์ที่มีความซับซ้อนสามารถรวมตัวเข้าด้วยกันหรือมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันได้ และมีพลังงานเพียงพอเกิดเมแทบอลิซึมอย่างยั่งยืน ระยะทางจากโลกถึงดวงอาทิตย์ตลอดจนความเยื้องศูนย์กลางของวงโคจร อัตราการหมุนรอบตัวเอง ความเอียงของแกนดาว ประวัติศาสตร์ธรณีวิทยา การมีชั้นบรรยากาศคอยค้ำจุน และมีสนามแม่เหล็กคอยปกป้อง ทั้งหมดล้วนเกื้อหนุนให้เกิดสภาพภูมิอากาศที่พื้นผิวดังเช่นในปัจจุบัน

รูปแบบสิ่งชีวิตต่าง ๆ บนดาวเคราะห์ได้รับการกล่าวถึงในบางคราวว่าประกอบขึ้นเป็น "ชีวมณฑล" เป็นที่เชื่อกันโดยทั่วไปว่าชีวมณฑลของโลกได้เริ่มวิวัฒน์ขึ้นเมื่อประมาณ 3.5 พันล้านปีก่อน จำแนกได้เป็นชีวนิเวศต่าง ๆ กัน อาศัยอยู่ด้วยพืชและสัตว์หลากหลายที่คล้ายคลึงกันโดยภาพกว้าง ชีวนิเวศบนพื้นดินแบ่งตามหลักใหญ่ได้ตามความแตกต่างกันของละติจูด ความสูงจากระดับน้ำทะเล และระดับความชื้น ส่วนชีวนิเวศบกที่อยู่ในบริเวณอาร์กติกหรือแอนตาร์กติกเซอร์เคิล ที่ที่มีระดับความสูงมาก หรือในพื้นที่แล้งสุดขั้ว เป็นพื้นที่แห้งแล้งโดยมีพืชและสัตว์เพียงเล็กน้อย ความหลากหลายของสปีชีส์จะสูงสุดในพื้นที่ชื้นลุ่มต่ำบริเวณละติจูดแถบศูนย์สูตร

คาดกันว่าปฏิกิริยาเคมีพลังงานสูงได้ก่อให้เกิดโมเลกุลที่สามารถจำลอง-ถอดแบบตนเองได้เมื่อราวสี่พันล้านปีก่อน ตามมาในอีกครึ่งพันล้านปีให้หลังโดยบรรพบุรุษร่วมสุดท้ายของสรรพชีวิต การเจริญพัฒนาขึ้นของการสังเคราะห์แสงได้ช่วยให้บรรดาสิ่งมีชีวิตสามารถเก็บเกี่ยวพลังงานจากดวงอาทิตย์ได้โดยตรง ยังผลให้เกิดการสะสมออกซิเจนในรูปโมเลกุล (O2) ขึ้นในบรรยากาศ และด้วยผลกระทบจากรังสีพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์จึงได้ก่อชั้นเกราะโอโซน (O3) ขึ้นในบรรยากาศเบื้องบน การประกอบรวมกันเข้าจากเซลล์เล็ก ๆ หลายเซลล์ภายในเซลล์ที่ใหญ่กว่าได้ทำให้เกิดพัฒนาการของเซลล์ซับซ้อนเรียกว่า ยูแคริโอต สิ่งมีชีวิตหลายเซลล์แบบแท้จริงเกิดขึ้นจากเซลล์ต่าง ๆ ภายในโคโลนีที่มีความจำเพาะมากขึ้น ด้วยความอนุเคราะห์จากชั้นโอโซนที่ดูดซับรังสีอัลตราไวโอเลตอันเป็นอันตรายออกไป สิ่งมีชีวิตจึงอยู่อาศัยได้บนพื้นผิวโลก หลักฐานทางบรรพชีวินแรกสุดของสิ่งมีชีวิตบนโลกคือแกรไฟต์ที่พบว่าสร้างโดยสิ่งมีชีวิตในชั้นหินตะกอนแปรอายุเก่าแก่ประมาณ 3.7 พันล้านปีค้นพบในกรีนแลนด์ตะวันตก และฟอสซิลผืนจุลชีพพบในหินทรายอายุ 3.48 พันล้านปีค้นพบในออสเตรเลียตะวันตก

ตั้งแต่ทศวรรษ 1960 (พ.ศ. ๒๕๐๓-) เป็นต้นมา ได้มีสมมติฐานถึงการเกิดขึ้นของธารน้ำแข็งอย่างร้ายกาจในช่วงเวลาระหว่าง 750 และ 580 ล้านปีก่อนในช่วงของมหายุคนีโอโปรเทอโรโซอิก แผ่นน้ำแข็งได้แผ่ปกคลุมส่วนใหญ่ของโลกเอาไว้ ตามสมมติฐานใช้ชื่อเรียกว่า "โลกก้อนหิมะ" และได้เป็นที่สนใจเป็นพิเศษเนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้าการระเบิดแคมเบรียน เมื่อสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์เริ่มการแพร่กระจายครั้งใหญ่

นับจากการระเบิดแคมเบรียนราว 535 ล้านปีก่อน ต่อมาภายหลังได้เกิดการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตครั้งใหญ่ห้าครั้งเหตุการณ์สูญพันธุ์ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อ 66 ล้านปีก่อนเมื่อการพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อยได้จุดชนวนการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์ (ที่ไม่ใช่กลุ่มนก) และสัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่อื่น ๆ แต่สัตว์ขนาดเล็กบางส่วนเหลือรอดมาได้เช่นกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมซึ่งมีลักษณะคล้ายหนู ตลอด 66 ล้านปีต่อมา สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมได้แตกแขนงออกไปมากมาย และเมื่อหลายล้านปีที่แล้ว สัตว์คล้ายลิงใหญ่ไม่มีหางแอฟริกา เช่น ออโรริน ทูเจเนนซิส (Orrorin tugenensis) มีความสามารถยืนด้วยลำตัวตั้งตรง ทำให้สามารถใช้เครื่องมือและเกื้อหนุนการสื่อสารระหว่างกัน นำมาซึ่งโภชนาการและการกระตุ้นที่จำเป็นสำหรับสมองที่มีขนาดใหญ่ขึ้น นำไปสู่วิวัฒนาการของเผ่าพันธุ์มนุษย์ การพัฒนาการเกษตรกรรมและอารยธรรม ได้ช่วยให้มนุษย์ขึ้นมาครองโลกในช่วงเวลาที่สั้นมากโดยที่ไม่เคยมีสิ่งชีวิตใดทำได้มาก่อน ส่งผลกระเทือนทั้งธรรมชาติและปริมาณของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ

โลกมีทรัพยากรหลากหลายซึ่งมนุษย์สามารถแสวงหาประโยชน์เพื่อสนองต่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ได้ ส่วนหนึ่งของทรัพยากรเหล่านี้คือทรัพยากรไม่หมุนเวียน เช่น เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเป็นไปได้ยากที่จะเติมเต็มกลับมาในมาตรเวลาเพียงสั้น ๆ

เชื้อเพลิงฟอสซิลปริมาณมากที่ถูกกักเก็บเอาไว้สามารถสำรวจขุดเจาะเอาได้จากเปลือกโลก ประกอบไปด้วยถ่านหิน ปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาติ มนุษย์ได้นำเชื้อเพลิงเหล่านี้มาใช้ทั้งเพื่อการผลิดพลังงานและเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในอุตสาหกรรมเคมี เนื้อสินแร่จำนวนมากยังได้ก่อตัวขึ้นภายในเปลือกโลกผ่านกระบวนการกำเนิดแร่ อันเป็นผลจากการปะทุของหินหลอมเหลว การกัดเซาะ และการแปรสัณฐานแผ่นธรณีภาค วัตถุเหล่านี้ได้เป็นแหล่งเนื้อแร่ของโลหะหลายชนิดตลอดจนธาตุที่ใช้ประโยชน์ได้อย่างอื่น ๆ

บรรยากาศของโลกได้ให้กำเนิดผลิตภัณฑ์ทางชีวภาพหลายชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ ประกอบด้วยอาหาร ไม้ ยารักษาโรค ออกซิเจน และช่วยรีไซเคิลของเสียอินทรีย์จำนวนมาก ระบบนิเวศบกต้องอาศัยหน้าดินและน้ำจืด ในขณะที่ระบบนิเวศมหาสมุทรต้องอาศัยสารอาหารที่ละลายในน้ำซึ่งถูกชะมาจากแผ่นดิน ในปี 1980 (พ.ศ. ๒๕๒๓) พื้นดินของโลก 5,053 ล้านเฮกตาร์ (50.53 ล้านตารางกิโลเมตร) เป็นพื้นที่ป่าและต้นไม้ 6,788 ล้านเฮกตาร์ (67.88 ล้านตารางกิโลเมตร) เป็นทุ่งหญ้าและทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ และ 1,501 ล้านเฮกตาร์ (15.01 ล้านตารางกิโลเมตร) เป็นพื้นที่เกษตรกรรมเพาะปลูก จำนวนพื้นที่ชลประทานโดยประมาณในปี 1993 (พ.ศ. ๒๕๓๖) อยู่ที่ 2,481,250 ตารางกิโลเมตร (958,020 ตารางไมล์) มนุษย์ยังดำรงชีวิตบนพื้นดินโดยใช้วัสดุก่อสร้างขนิดต่าง ๆ สำหรับก่อสร้างเป็นที่พักอยู่อาศัย

พื้นที่จำนวนมากบนพื้นผิวโลกได้ประสบกับสภาพอากาศร้ายแรง เช่น ไซโคลนเขตร้อน เฮอริเคน หรือไต้ฝุ่น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สิ่งมีชีวิตในพื้นที่นั้น ๆ ต้องเผชิญ ช่วงเวลาจากปี 1980 ถึง 2000 (พ.ศ. ๒๕๒๓-๒๕๔๓) เหตุการณ์ต่าง ๆ ดังกล่าวเป็นสาเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตโดยเฉลี่ย 11,800 รายต่อปี ในหลายท้องที่ยังต้องประสบกับแผ่นดินไหว แผ่นดินถล่ม สึนามิ ภูเขาไฟระเบิด ทอร์นาโด หลุมยุบ พายุหิมะ น้ำท่วม ภัยแล้ง ไฟป่า และหายนะภัยหรือพิบัติภัยอื่น ๆ

พื้นที่ในท้องถิ่นหลายแห่งตกเป็นเหยื่อมลพิษทั้งทางน้ำและอากาศอันมีสาเหตุจากมนุษย์ ฝนกรดและสารพิษนานาชนิด การสูญเสียพื้นที่สีเขียว (การทำปศุสัตว์มากเกินไป การทำลายป่า การเกิดทะเลทราย) การสูญเสียสิ่งมีชีวิตในป่า สปีชีส์ต่าง ๆ สูญพันธุ์ไป ดินเสื่อมคุณภาพ ดินถูกทำลาย การกัดเซาะ และการเข้ามาของสายพันธุ์รุกราน

จากสหประชาชาติ ความสอดคล้องกันทางวิทยาศาสตร์บ่งชี้ว่ากิจกรรมของมนุษย์เชื่อมโยงกับภาวะโลกร้อนอันเนื่องมาจากการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคอุตสาหกรรม นำไปสู่การคาดคะเนการเกิดขึ้นของความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เช่นการละลายของธารน้ำแข็งและพืดน้ำแข็ง ช่วงการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิที่รุนแรงมากขึ้น สภาพอากาศที่วิปริตไปอย่างเห็นได้ชัด และการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลทั่วโลก

ด้วยวิชาการเขียนแผนที่ซึ่งทำการศึกษาและสร้างแผนที่ในเชิงปฏิบัติ วิชาภูมิศาสตร์ซึ่งทำการศึกษาพื้นที่ ภูมิประเทศ ผู้อยู่อาศัย และปรากฏการณ์ต่าง ๆ บนโลก ล้วนมีประวัติศาสตร์อันแข็งขันที่อุทิศให้แก่การอรรถาธิบายรายละเอียดต่าง ๆ ของโลก วิศวกรรมสำรวจซึ่งทำการกำหนดที่ตั้งและระยะทาง ตลอดจนขอบเขตอีกบางส่วนจากการเดินเรืออันต้องกำหนดตำแหน่งและทิศทาง ก็ได้มีการพัฒนาขึ้นร่วมไปกับวิชาการเขียนแผนที่และภูมิศาสตร์ ทั้งหมดนั้นได้อำนวยและให้ปริมาณข้อสนเทศที่จำเป็นได้อย่างเหมาะสม

จำนวนประชากรมนุษย์บนโลกได้เพิ่มขึ้นถึงเจ็ดพันล้านคนโดยประมาณในวันที่ 31 ตุลาคม 2011 (พ.ศ. ๒๕๕๔) ภาพที่เป็นอยู่ชี้ว่าประชากรมนุษย์บนโลกจะเพิ่มขึ้นจนถึง 9.2 พันล้านคนในปี 2050 (พ.ศ. ๒๕๙๓) จำนวนที่เพิ่มขึ้นเป็นส่วนใหญ่นั้นคาดว่าจะอยู่ในชาติกำลังพัฒนา ความหนาแน่นของประชากรมนุษย์มีการผันแปรอย่างกว้างขวางทั่วโลกโดยมากอยู่อาศัยในทวีปเอเชีย เมื่อถึงปี 2020 (พ.ศ. ๒๕๖๓) ราวร้อยละ 60 ของประชากรโลกคาดว่าจะอยู่อาศัยในเขตเมืองมากกว่าในพื้นที่แถบชนบท

ประมาณกันว่าพื้นที่หนึ่งในแปดของพื้นผิวโลกมีความเหมาะสมอยู่อาศัยของมนุษย์ โดยที่พื้นที่ราวสามในสี่ของพื้นผิวโลกถูกปกคลุมด้วยมหาสมุทร เฉพาะหนึ่งในสี่เท่านั้นที่เป็นพื้นดิน กว่าครึ่งของพื้นดินเป็นพื้นที่ทะเลทราย (ร้อยละ 14) เขตเทือกเขาสูง (ร้อยละ 27) หรือเป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมในรูปแบบอื่น ๆ ตำแหน่งที่อยู่เหนือที่สุดของโลกที่มนุษย์ได้ไปตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยเป็นการถาวรคือเมืองอเลิร์ท บนเกาะเอลสเมียร์ ในนูนาวุต ประเทศแคนาดา (82?28?เหนือ) ส่วนตำแหน่งใต้สุดคือ สถานีขั้วโลกใต้อมุนด์เซน-สก็อต ที่แอนตาร์กติกา โดยมีที่ตั้งเกือบจะตำแหน่งเดียวกันกับขั้วโลกใต้ (90?ใต้)

ในปี 2000 (พ.ศ. ๒๕๔๓) ร้อยละ 90 ของมนุษย์ทั้งหมดอาศัยอยู่ในซีกโลกเหนือ กว่าครึ่งอาศัยในละติจูดสูงกว่า 27? เหนือ ประมาณกว่าร้อยละ 86 ของผู้คนทั้งหมดอาศัยในซีกโลกตะวันออก

ชาติอธิปไตยอิสระจำนวนมากได้อ้างสิทธิ์เหนือพื้นผิวดินทั้งหมดของโลกยกเว้นเพียงบางส่วนของแอนตาร์กติกา ผืนดินส่วนน้อยริมฝั่งด้านตะวันตกของแม่น้ำดานูบรอยต่อโครเอเชีย-เซอร์เบีย และพื้นที่เล็กย่อยที่ไม่ได้อ้างสิทธิ์ในบริเวณบีทาวิลซึ่งอยู่ระหว่างอียิปต์และซูดาน ตามที่ปรากฏในปี 2013 (พ.ศ. ๒๕๕๖) โลกมีรัฐอธิปไตยทั้งสิ้น 205 แห่ง ประกอบด้วยรัฐที่เป็นสมาชิกในสหประชาชาติ 193 แห่ง นอกจากนั้นยังมีเขตปกครอง 59 แห่ง พื้นที่ปกครองตนเอง อาณาเขตที่ยังอยู่ในความโต้แย้ง และพื้นที่อย่างอื่น ๆ ตามประวัติศาสตร์แล้วยังไม่เคยมีรัฐอธิปไตยใดที่มีอำนาจปกครองครอบคลุมไปทั่วทั้งพิภพโลก แม้กระนั้นก็มีชาติ-รัฐจำนวนหนึ่งที่เคยพยายามขึ้นมาครองโลกแต่ล้มเหลว

สหประชาชาติเป็นองค์การระหว่างประเทศที่มีบทบาททั่วโลก ก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อไกล่เกลี่ยหรือแทรกแซงกรณีพิพาทและข้อขัดแย้งระหว่างชาติรัฐต่าง ๆ ด้วยการหลีกเลี่ยงวิธีการปะทะกันด้วยความรุนแรง โดยหลักแล้วสหประชาชาติสนับสนุนการเจรจาหรือวิธีการทางการทูตตลอดจนกฎหมายระหว่างประเทศ ต่อเมื่อมีฉันทามติจากชาติสมาชิกที่อนุญาตแล้วจึงสามารถทำการเข้าแทรกแซงโดยใช้กำลังได้

มนุษย์คนแรกที่ได้ขึ้นไปโคจรรอบโลกคือ ยูริ กาการิน เมื่อวันที่ 12 เมษายน 1961 (พ.ศ. ๒๕๐๔) หากนับรวมทั้งหมดจนถึง 30 กรกฎาคม 2010 (พ.ศ. ๒๕๕๓) ราว 487 คน ได้เคยไปยังอวกาศภายนอกและขึ้นไปจนถึงวงโคจร ในจำนวนนี้ สิบสองคนได้เคยขึ้นไปเดินบนดวงจันทร์ โดยทั่วไปแล้วมนุษย์ที่อยู่ในอวกาศมีเฉพาะที่อยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติเท่านั้น ลูกเรือของสถานีมีจำนวนทั้งสิ้นหกคนซึ่งจะมีการผลัดเปลี่ยนการปฏิบัติภารกิจทุกหกเดือน ระยะทางที่ไกลที่สุดที่มนุษย์เคยเดินทางออกไปจากโลกคือ 400,171 กิโลเมตร โดยเกิดขึ้นในระหว่างภารกิจ อะพอลโล 13 ในปี 1970 (พ.ศ. ๒๕๑๓)

นับว่าผิดแปลกไปกว่าดาวเคราะห์อื่น ๆ ที่ร่วมระบบสุริยะด้วยกัน เพราะมนุษยชาติไม่เคยมองโลกในฐานที่เป็นวัตถุเคลื่อนที่เลยจนกระทั่งถึงคริสต์ศตวรรษที่ 16 โลกมักได้รับการยกให้เป็นเทพเจ้าหรือเทพธิดาผู้พิเศษพิสดารต่าง ๆ เรื่อยมา ในหลายวัฒนธรรมจะปรากฏพระแม่เจ้าซึ่งมีลักษณาการเช่นเทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์ ตามตำนานแห่งการก่อกำเนิดในหลากหลายศาสนาได้กล่าวถึงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการสรรค์สร้างโลกว่าถือกำเนิดโดยพลังอำนาจอันยิ่งใหญ่ของเทพเจ้าหรือพหุเทพ ความแปลกกันไปในแต่ละกลุ่มศาสนาที่มักเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับสาขาที่ศรัทธาหลักมูลฐานเดิมของนิกายโปรเตสแตนต์ หรือในศาสนาอิสลาม คือยืนยันการแปลความหมายตำนานการสรรค์สร้างสรรพสิ่งตามคัมภีร์ของศาสนานั้น ๆ ของตนว่าจริงแท้ตามลำดับพยัญชนะ และควรพิจารณาร่วมไปกับหรือเข้ามาแทนที่คำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ตามตำราในเรื่องของการสร้างโลกรวมไปถึงจุดกำเนิดและพัฒนาการของสิ่งมีชีวิต คำอ้างมากมายเหล่านั้นถูกคัดค้านโดยชุมชนวิทยาศาสตร์ และโดยกลุ่มศาสนาอื่น ๆ ตัวอย่างที่มีชื่อเสียงได้แก่ ปฏิทัศน์เรื่องการสร้างโลกและวิวัฒนาการ

ในอดีตเคยมีความเชื่อในระดับที่แตกต่างกันไปว่าโลกนั้นแบน แต่ก็ถูกแทนที่ด้วยแนวคิดโลกกลมซึ่งเป็นแนวคิดที่ได้รับการเชื่อถือโดยพีทาโกรัส (ศตวรรษที่หกก่อนคริสต์ศักราช)วัฒนธรรมมนุษย์ได้มีพัฒนาการในมุมมองมากมายเกี่ยวกับโลก ประกอบด้วยการมีมนุษยภาวะในฐานะที่เป็นเทพเจ้าแห่งดาวเคราะห์ การมีรูปร่างแบน มีตำแหน่งที่ตั้ง ณ ศูนย์กลางของจักรวาล และสมมติฐานไกอาร่วมสมัยว่าเป็นรูปเอกมันต์ของชีวิตินทรีย์อันมีกฎเกณฑ์ความชอบธรรมตามวิถีแห่งตน

วัตถุแรกเริ่มที่สุดที่พบในระบบสุริยะมีอายุย้อนหลังไปถึง 4.5672?0.0006 พันล้านปีก่อน ดังนั้นจึงสรุปกันว่าโลกจะต้องถือกำเนิดโดยรวมตัว-พอกพูนขึ้นประมาณช่วงเวลาเดียวกันนี้ เมื่อ 4.54?0.04 พันล้านปีก่อนโลกยุคแรกก็ได้เป็นรูปเป็นร่างขึ้น การก่อกำเนิดและวิวัฒนาการของวัตถุต่าง ๆ ในระบบสุริยะปรากฏเป็นลำดับร่วมกับดวงอาทิตย์ ตามทฤษฎีแล้วเนบิวลาสุริยะได้แยกส่วนอาณาบริเวณออกมาจากเมฆโมเลกุลโดยยุบตัวจากแรงโน้มถ่วง ซึ่งเริ่มหมุนและแบนลงเป็นจานรอบดาวฤกษ์ จากนั้นดาวเคราะห์ต่าง ๆ ก็ได้เกิดขึ้นเป็นลำดับจากดวงอาทิตย์ ในเนบิวลามีองค์ประกอบคือ ก๊าซ เม็ดน้ำแข็ง และฝุ่น (ประกอบด้วยนิวไคลด์แรกกำเนิด) ตามทฤษฎีเนบิวลา ดาวเคราะห์ก่อนเกิดได้เริ่มต้นก่อร่างโดยเม็ดวัตถุต่าง ๆ ได้พอกรวมตัวกันขึ้นโดยจับรวมเป็นกลุ่มก้อน และจากนั้นโดยแรงโน้มถ่วง การรวมประสานเข้าเป็นโลกยุคแรกดำเนินไปในช่วงเวลาราว 10-20 ล้านปี ไม่นานหลังจากนั้นดวงจันทร์ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 4.53 พันล้านปีก่อน.

การก่อกำเนิดดวงจันทร์นั้นเป็นหัวข้อที่ยังอยู่ในระหว่างการอภิปรายโต้แย้ง ตามสมมติฐานกล่าวว่าดวงจันทร์ถือกำเนิดขึ้นโดยรวมตัวจากเศษมวลสารที่หลุดออกไปจากโลกภายหลังจากที่วัตถุขนาดใหญ่เท่าดาวอังคารซึ่งตั้งชื่อว่า เธีย พุ่งเข้าชนโลก แบบจำลองนี้ถือว่ายังไม่ได้สมบูรณ์แบบที่สุด สถานการณ์ตามที่ว่ามามวลของเธียจะมีค่าราวร้อยละ 10 ของมวลของโลก พุ่งเข้าชนโลกในลักษณะแฉลบ และมวลบางส่วนได้รวมเข้ากับโลก ในระหว่างเวลาประมาณ 3.8 และ 4.1 พันล้านปีก่อน ดาวเคราะห์น้อยจำนวนมากได้พุ่งเข้าชนท่ามกลางการระดมชนหนักครั้งสุดท้าย ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงกับบริเวณพื้นที่ผิวส่วนใหญ่ของดวงจันทร์รวมทั้งโลก

บรรยากาศโลกและมหาสมุทรประกอบขึ้นมาโดยกิจกรรมภูเขาไฟและกระบวนการปล่อยก๊าซซึ่งมีไอน้ำเป็นองค์ประกอบ จุดกำเนิดของมหาสมุทรบนโลกเริ่มจากการควบแน่นเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ของน้ำและน้ำแข็งซึ่งถูกส่งมาพร้อมกับดาวเคราะห์น้อย ดาวเคราะห์ก่อนเกิด และดาวหาง ตามแบบจำลองนี้ "ก๊าซเรือนกระจก" ในบรรยากาศช่วยรักษามหาสมุทรให้พ้นจากสภาพเยือกแข็งเมื่อดวงอาทิตย์ที่ยังเยาว์วัย ณ ขณะนั้นมีความสว่างเพียงร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ราว 3.5 พันล้านปีก่อน สนามแม่เหล็กโลกก็ได้ก่อร่างขึ้นอย่างเป็นกิจจะลักษณะซึ่งช่วยปกป้องบรรยากาศไม่ให้ถูกกวาดกระจายไปโดยลมสุริยะเปลือกโลกได้ก่อรูปขึ้นเมื่อชั้นนอกที่หลอมเหลวของโลกเย็นตัวลงจนอยู่ในสถานะแข็ง ทำให้ไอน้ำที่สะสมตัวอยู่เริ่มต้นบทบาทในบรรยากาศ มีแบบจำลองสองแนวทางด้วยกัน ที่อธิบายการเกิดขึ้นของแผ่นดินโดยเสนอว่าอยู่ในรูปแบบที่เกิดการสร้างสมงอกเงยขึ้นอย่างสม่ำเสมอจนเป็นดังเช่นในปัจจุบัน หรือไม่ก็อีกแนวทางหนึ่งซึ่งอาจเป็นไปได้มากกว่าคือเกิดพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ในประวัติศาสตร์โลก อันเนื่องมาจากการดำรงอยู่มาต่อเนื่องยาวนานของพื้นที่ส่วนทวีป ทวีปต่าง ๆ เกิดขึ้นโดยแปรสัณฐานแผ่นธรณีภาคซึ่งเป็นกระบวนการที่ขับเคลื่อนโดยหลักจากการสูญเสียความร้อนของบริเวณภายในของโลกอย่างต่อเนื่อง ตามมาตรเวลาที่ผ่านมาย้อนหลังไปกว่าหลายร้อยล้านปี มหาทวีปได้มีการก่อตัวขึ้นและได้แตกสลายลงแล้วสามรอบ ประมาณเมื่อ 750 ล้านปีก่อน หนึ่งในมหาทวีปโบราณที่เป็นที่รู้จักกันคือโรดิเนียได้เริ่มแตกออกจากกัน ทวีปทั้งหลายภายหลังได้กลับมารวมกันเกิดเป็นมหาทวีปแพนโนเชียเมื่อราว 600–540 ล้านปีก่อน และสุดท้ายคือมหาทวีปแพนเจียซึ่งก็แตกสลายลงเมื่อราว 180 ล้านปีก่อน

รูปแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันของยุคน้ำแข็งได้เริ่มขึ้นเมื่อประมาณ 40 ล้านปีก่อนและได้รุนแรงมากยิ่งขึ้นระหว่างสมัยไพลสโตซีนเมื่อราว 3 ล้านปีที่แล้ว ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาบริเวณละติจูดสูง ๆ จำต้องเผชิญกับวัฏจักรการเกิดขึ้นของธารน้ำแข็งสลับกับการละลายซ้ำแล้วซ้ำอีกโดยอุบัติซ้ำในทุก ๆ 40,000–100,000 ปี ทวีปน้ำแข็งครั้งล่าสุดได้จบสิ้นลงเมื่อประมาณ 10,000 ปีก่อน

ระยะเวลาอีกยาวนานเท่าใดที่ดาวเคราะห์โลกจะยังคงสามารถค้ำจุนสิ่งมีชีวิตทั้งมวลได้นั้นประมาณว่าอยู่ในช่วงระหว่าง 500 ล้านปี ไปจนถึง 2.3 พันล้านปีในอนาคตข้างหน้า อนาคตของโลกถูกผูกติดอย่างแนบแน่นกับความเป็นไปของดวงอาทิตย์ การสั่งสมเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอของฮีเลียมในแกนกลางของดวงอาทิตย์จะทำให้การส่องสว่างรวมของดาวเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ ความสว่างของดวงอาทิตย์จะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 10 ในอีก 1.1 พันล้านปีต่อจากนี้ และเพิ่มถึงร้อยละ 40 เมื่อพ้น 3.5 พันล้านปีในอนาคต แบบจำลองภูมิอากาศบ่งชี้ว่าการเพิ่มขึ้นของปริมาณรังสีที่มาถึงโลกนั้นจะทำให้เกิดผลสืบเนื่องเลวร้ายสาหัสซึ่งรวมไปถึงการสูญสิ้นไปของมหาสมุทร

การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิพื้นผิวโลกจะไปเร่งวัฏจักรคาร์บอนอนินทรีย์ ส่งผลให้ระดับความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศลดต่ำลงจนพืชไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ (10 ส่วนในล้านส่วน(พีพีเอ็ม) ในพืชที่สังเคราะห์แสงด้วยการตรึงคาร์บอนแบบซี4) ในระยะเวลาประมาณ 500-900 ล้านปีข้างหน้า การขาดหายไปของพืชจะส่งผลกระทบให้ออกซิเจนขาดหายไปจากบรรยากาศ ดังนั้นอีกราวไม่กี่ล้านปีถัดไปสัตว์ทั้งหลายก็จะดำเนินไปสู่การสูญพันธุ์ คล้อยหลังไปอีกพันล้านปีปริมาณน้ำทั้งหมดบนผิวโลกก็จะสูญสิ้น และอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะพุ่งขึ้นไปถึง 70 องศาเซลเซียส (158 องศาฟาเรนไฮต์) คาดหมายว่าโลกจะยังคงมีสภาพพออยู่อาศัยได้เพียงประมาณ 500 ล้านปีนับจากจุดนั้น มาตรว่าภาวะดังกล่าวจะยืดออกไปจนถึง 2.3 พันล้านปีข้างหน้าถ้าไนโตรเจนถูกขับออกไปจากบรรยากาศ และกระทั่งว่าหากดวงอาทิตย์จะอยู่ได้ชั่วนิรันดร์และปล่อยพลังงานในอัตราเสถียร ปริมาณกว่าร้อยละ 27 ของน้ำในมหาสมุทรปัจจุบันก็จะต้องถูกกลืนหายไปในแมนเทิลในระยะเวลาพันล้านปี ด้องกันกับการลดน้อยลงของไอน้ำที่ปะทุออกมาจากสันกลางมหาสมุทร

ดวงอาทิตย์ในฐานที่ดำเนินไปตามกระบวนการวิวัฒนาการนั้นจะกลายเป็นดาวยักษ์แดงในราว 5 พันล้านปีข้างหน้า แบบจำลองทำนายว่าดวงอาทิตย์จะขยายตัวออกโดยคร่าว ๆ ถึงกว่า 1 หน่วยดาราศาสตร์ 150,000,000 กิโลเมตร หรือประมาณ 250 เท่าของรัศมีปัจจุบัน ชะตาของโลกนั้นยังไม่ชัดเจนนัก เมื่อเป็นดาวยักษ์แดงแล้วดวงอาทิตย์จะสูญเสียมวลไปประมาณร้อยละ 30 ดังนั้นหากปราศจากผลจากแรงไทด์ โลกจะเคลื่อนไปอยู่ในวงโคจรระดับ 1.7 หน่วยดาราศาสตร์ (250,000,000 กิโลเมตร) จากดวงอาทิตย์ในเวลาที่ดาวพองตัวออกจนมีรัศมีมากที่สุด โลกเองแม้จะคาดไว้แต่แรกว่าจะหนีการโอบคลุมโดยที่บรรยากาศส่วนนอกที่เบาบางของดวงอาทิตย์ขยายตัวออกมาได้ แต่เกือบทั้งหมดของสิ่งมีชีวิตที่ยังเหลืออยู่ก็จะถูกทำลายล้างโดยความสว่างที่เพิ่มขึ้นของดวงอาทิตย์ (เพิ่มขึ้นสูงสุดที่ประมาณ 5,000 เท่าจากระดับปัจจุบัน) การจำลองในปี 2008 (พ.ศ. ๒๕๕๑) ชี้ว่าวงโคจรของโลกจะเสื่อมสลายอันเนื่องมาจากผลจากแรงไทด์ และลากเอาโลกให้ตกเข้าสู่บรรยากาศของดวงอาทิตย์ที่เป็นยักษ์แดงนั้นแล้วก็ระเหยไปจนหมดสิ้น หลังจากนั้นแกนของดวงอาทิตย์ก็จะยุบตัวลงกลายเป็นดาวแคระขาวในขณะที่ชั้นนอกของดาวก็จะหลุดกระจายออกไปสู่ห้วงอวกาศเกิดเป็นเนบิวลาดาวเคราะห์ สสารที่ครั้งหนึ่งเคยประกอบขึ้นเป็นโลกก็จะถูกปล่อยไปสู่ห้วงอวกาศระหว่างดาว ซึ่งในที่นั้นวันใดวันหนึ่งข้างหน้าอาจรวมตัวกันเข้าเป็นดาวเคราะห์รุ่นใหม่และเทหฟ้าอื่น ๆ อีกมากมาย

ดวงจันทร์จัดว่ามีขนาดใหญ่โดยเทียบเคียง มีพื้นผิวแข็ง เป็นดาวบริวารคล้ายดาวเคราะห์โดยมีเส้นผ่านศูนย์กลางร่วมหนึ่งในสี่ของโลก เป็นดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่โตที่สุดในระบบสุริยะเมื่อเทียบโดยสัดส่วนกับดาวเคราะห์แม่ แม้ว่าแครอนจะดูใหญ่มากกว่าเมื่อเทียบกับดาวเคราะห์แคระพลูโตก็ตาม ดาวบริวารธรรมชาติที่โคจรรอบดาวเคราะห์อื่น ๆ ก็ได้รับการเรียกขานว่า "ดวงจันทร์" ตามอย่างดวงจันทร์ของโลก

การดึงเชิงโน้มถ่วงระหว่างโลกและดวงจันทร์นั้นก่อให้เกิดปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลงบนโลก ผลเช่นเดียวกันที่เกิดกับดวงจันทร์นำไปสู่ภาวะการตรึงด้วยแรงไทด์ ทำให้ระยะเวลาในการหมุนรอบตัวเองของดวงจันทร์เท่ากันกับเวลาที่ใช้ในการโคจรรอบโลก ผลที่เห็นคือดวงจันทร์จะหันด้านเดียวเข้าหาโลกเสมอ ในขณะที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลกแต่ละรอบ พื้นผิวส่วนต่าง ๆ กันของหน้าที่หันสู่โลกจะสว่างขึ้นโดยดวงอาทิตย์ นำไปสู่ปรากฏการณ์ข้างขึ้นข้างแรม ส่วนหน้าที่มืดแยกออกจากส่วนที่สว่างโดยขอบสิ้นสุดสุริยะ

จากปฏิสัมพันธ์น้ำขึ้นน้ำลงที่ดำเนินอยู่ ดวงจันทร์จึงถอยห่างออกไปจากโลกในอัตราประมาณ 38 มิลลิเมตรต่อปี ในเวลาอีกหลายล้านปีข้างหน้าการเคลื่อนเปลี่ยนเล็ก ๆ น้อย ๆ นี้ รวมถึงการยาวมากขึ้นของระยะวันของโลกที่ประมาณ 23 ไมโครวินาทีทุกปี จะทวีขึ้นจนกลายเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น ในระหว่างยุคดีโวเนียนเมื่อประมาณ 410 ล้านปีก่อน โลกในแต่ละปีจะมีระยะเวลา 400 วัน โดยในหนึ่งวันมีเวลาเพียง 21.8 ชั่วโมง

ดวงจันทร์อาจมีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อพัฒนาการของสิ่งมีชีวิตโดยช่วยควบคุมรักษาภูมิอากาศของโลก หลักฐานทางบรรพชีวินวิทยาและการจำลองด้วยคอมพิวเตอร์แสดงให้เห็นว่าความเอียงของแกนโลกมีเสถียรภาพอยู่ได้โดยปฏิสัมพันธ์เชิงโน้มถ่วงที่มีกับดวงจันทร์ นักทฤษฎีบางส่วนเชื่อว่าหากปราศจากเสถียรภาพนี้เมื่อต้องเผชิญกับแรงบิดที่ส่งมาจากจากดวงอาทิตย์และดาวเคราะห์อื่น ๆ ที่กระทำต่อส่วนโป่งบริเวณศูนย์สูตรของโลกแล้ว แกนหมุนของโลกอาจไร้เสถียรภาพถึงขั้นวิปริต โดยจะแสดงการเปลี่ยนแปลงอย่างสับสนอลหม่านในทุก ๆ หลายล้านปีดังที่ปรากฏในกรณีของดาวอังคาร

เมื่อมองจากโลก ดวงจันทร์จะอยู่ในระยะห่างออกไปอย่างพอเหมาะทำให้ขนาดปรากฏของดวงจันทร์เกือบที่จะเท่ากันกับดวงอาทิตย์ ขนาดเชิงมุม (หรือมุมตัน) ของวัตถุทั้งสองเสมอกันเพราะเส้นผ่านศูนย์กลางของดวงอาทิตย์แม้จะมากกว่าของดวงจันทร์ร่วม 400 เท่า แต่ระยะทางมาถึงโลกก็ไกลกว่า 400 เท่าด้วยเช่นกัน สภาพดังกล่าวเป็นสาเหตุให้สุริยุปราคาทั้งแบบเต็มดวงและแบบวงแหวนสามารถปรากฏได้บนโลก

ทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในการกำเนิดดวงจันทร์คือทฤษฎีการชนใหญ่ โดยกล่าวว่าดวงจันทร์เกิดขึ้นจากการที่ดาวเคราะห์ยุคแรกขนาดเท่าดาวอังคารซึ่งได้ชื่อว่าเธียพุ่งเข้าชนโลกที่เพิ่งเกิดขึ้นมาใหม่ ๆ สมมติฐานนี้ให้คำอธิบาย (ในระหว่างทฤษฎีอื่น ๆ ) เกี่ยวกับการที่ดวงจันทร์ขาดเหล็กในองค์ประกอบรวมถึงธาตุระเหยง่ายอย่างอื่น ตลอดจนข้อเท็จจริงที่องค์ประกอบของดวงจันทร์แทบจะเหมือนกันกับองค์ประกอบของเปลือกโลก

โลกมีดาวเคราะห์น้อยร่วมวงโคจรอย่างน้อยห้าดวงด้วยกัน อาทิเช่น 3753 ครูอิทเน และ 2002 AA29ดาวเคราะห์น้อยโทรจันร่วมทางได้แก่ 2010 TK7 ซึ่งเคลื่อนไปตามเส้นทางล้ำหน้าโลก ณ ตำแหน่งจุดสามเหลี่ยมลากร็องจ์ หรือแอล4 ในวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์

จนถึงปี 2011 (พ.ศ. ๒๕๕๔) มีดาวเทียมฝีมือมนุษย์ในระหว่างปฏิบัติการ 931 ดวงโคจรรอบโลก ยังมีดาวเทียมที่ยุติการใช้งานแล้วและขยะอวกาศอีกมากกว่า 300,000 ชิ้น ดาวเทียมประดิษฐ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลกคือสถานีอวกาศนานาชาติ


 

 

รับจำนำรถยนต์ รับจำนำรถจอด

ลีโอ กาเมซ ดัสติน ฮอฟฟ์แมน จักรพรรดินีมารีเยีย อะเลคซันโดรฟนาแห่งรัสเซีย โอลิมปิก 2008 กีฬามหาวิทยาลัยโลกฤดูร้อน ครั้งที่ 24 การก่อการกำเริบ 8888 วิทยาลัยเทคนิคภาคพายัพ ยุทธการแห่งบริเตน บีเซนเต เดล โบสเก โคเซ มานวยล์ เรย์นา เคซุส นาบัส คาบี มาร์ตีเนซ เฟร์นันโด โยเรนเต เปโดร โรดรีเกซ เลเดสมา เซร์คีโอ ราโมส ควน มานวยล์ มาตา บิกตอร์ บัลเดส ชูอัน กัปเดบีลา ชาบี ดาบิด บียา อันเดรส อีเนียสตา การ์เลส ปูยอล ราอุล อัลบีออล กัปตัน (ฟุตบอล) อีเกร์ กาซียัส สโมสรฟุตบอลบียาร์เรอัล 2000 Summer Olympics Football at the Summer Olympics Spain national football team Valencia CF S.L. Benfica Sevilla FC Villarreal CF Midfielder Defender (association football) เนวิลล์ ลองบัตท่อม เจ.เค. โรว์ลิ่ง แฮร์รี่ พอตเตอร์ (ตัวละคร) บ็อบบี ร็อบสัน สมเด็จพระราชาธิบดีโบดวงแห่งเบลเยียม แอนดรูว์ จอห์นสัน อิกเนเชียสแห่งโลโยลา เจ. เค. โรว์ลิ่ง เวสลีย์ สไนปส์ ฟิลิปที่ 3 ดยุกแห่งเบอร์กันดี ยอดเขาเคทู สมาคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Munhwa Broadcasting Corporation โจ อินซุง ควอน ซัง วู ยุน อึนเฮ รักวุ่นวายของเจ้าชายกาแฟ อุซึมากิ คุชินะ มาเอดะ อัตสึโกะ คิม ฮีชอล เจสสิก้า ซิมพ์สัน จาง เซี๊ยะโหย่ว พิภพ ธงไชย วิมล ศิริไพบูลย์ มหาธีร์ โมฮัมหมัด บอริส เยลซิน ออกแลนด์ เรนโบว์วอริเออร์ ฝ่ายพันธมิตร เด่น จุลพันธ์ เคอิทาโร โฮชิโน แมนนี่ เมลชอร์ ผู้ฝึกสอน ไมเคิล โดมิงโก ก. สุรางคนางค์ นิโคล เทริโอ ซีเนอดีน ซีดาน เริ่น เสียนฉี โจเซฟีน เดอ โบอาร์เนส์ โอดะ โนบุนากะ แยกราชประสงค์ แคชเมียร์ วีโต้ แอฟริกัน-อเมริกัน Rolling Stone People (magazine) TV Guide อินสตาแกรม Obi-Wan Kenobi Saturday Night Live The Lego Movie Jurassic World Guardians of the Galaxy (film) Her (film) แอนนา ฟาริส จอมโจรอัจฉริยะ จอมโจรคิด ตัวละครในฮายาเตะ พ่อบ้านประจัญบาน ตัวละครในฮายาเตะ พ่อบ้านประจัญบาน ลุยจี กอนซากา ครีษมายัน เจริญ วัดอักษร อลิซ บราวน์ อินิโก โจนส์ กาแอล กากูตา

 

1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
32
33
34
35
36
37
38
39
40
41
42
43
44
45
46
47
48
49
50
51
52
53
54
55
56
57
58
59
60
61
62
63
64
65
66
67
68
69
70
71
72
73
74
75
76
77
78
79
80
81
82
83
84
85
86
87
88
89
90
91
92
93
94
95
96
97
98
99
100
101
102
103
104
105
106
107
108
109
110
111
112
113
114
115
116
117
118
119
120
121
122
123
124
125
126
127
128
129
130
131
132
133
134
135
136
137
138
139
140
141
142
143
144
145
146
147
148
149
150
151
152
153
154
155
156
157
158
159
160
161
162
163
164
165
166
167
168
169
170
171
172
173
174
175
176
177
178
179
180
181
182
183
184
185
186
187
188
189
190
191
192
193
194
195
196
197
198
199
200
201
202
203
204
205
206
207
208
209
210
211
212
213
214
215
216
217
218
219
220
221
222
223
224
225
226
227
228
229
230
231
232
เลขมงคล รถยนต์ ทะเบียน ทะเบียนรถ เงินด่วน รับจำนำรถยนต์ จำนำรถยนต์ จำนำรถ 23180